วันพฤหัสบดีที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2555

เรื่องของการผายลม


                             "เสี่ยงกระซิบจากช่องแคบ
      
                 การพููดคำหยาบหรือคำด่าทอทั้งหลายทั้งปวงเป็นเรื่องเกือบทำไม่ได้ในบ้าน.....นี่เป็นเรื่องจริง  แต่ที่ยิ่งกว่าคำหยาบคือ   คำที่แม่ (ความคิดของแม่เอง) ว่าไม่สุภาพ  ทั้ง ๆ ที่พวกเราลูก ๆ ก็ได้ยินสามัญชนคนอื่น ๆ เขาพูดกันออกเกลื่อนเมืองและไม่ได้ถือเป็นคำหนักหนาสาหัสแต่อย่างใดเลย
คำพวกนี้ ได้แก่ คำว่าตีนเป็นต้น  คำว่าตูดเป็นอาทิ   และคำว่าตดเป็นปริโยสาน (หมายความว่า ที่สุดหรือจบอย่างบริบูรณ์แล้ว ) เพิ่งมาสังเกตเอาตอนเขียนเรื่องนี้เองว่าทุก ๆ คำที่แม่รังเกียจล้วนขึ้นต้น ต.เต่า  ชะรอยแม่ของผมจะเป็นคนแพ้เต่าหรืออย่างไรให้สงสัยยิ่งนัก      ทั้งนี้ด้วยคำว่าขี้เต่าก็เป็นคำที่แม่เกลียดชังแสนสาหัส     จนพูดในบ้านไม่ได้อีกเช่นกัน  ความจริงคำว่า   ตีน   ตูด   ตด  และขี้เต่านี้ก็มิใช่จะหยาบคายร้ายกาจอะไรนักหนา       เพียงแต่เป็นคำที่ไม่สุภาพอยู่บ้างที่จะพูดต่อหน้าผู้ใหญ่หรือผู้ที่ไม่คุ้นเคยเท่านั้น       แต่ถ้าผู้พูดเป็นเป็นผู้ใหญ่เสียแล้วบางทีก็ดูจะอนุโลมกันในทีว่าจะพูดอะไรทำอะไรก็ทำได้พูดได้    เหมือนที่  ม.ร.ว.   คึกฤทธิ์   ปราโมช    เคยพูดเอาไว้ว่าคนเรานั้นถ้าเป็นคนแก่สัก ๗๐  แล้วจะทำอะไรก็ได้ไม่มีการถือสา     แม้จะผ่ายลมสักปู้ดต่อหน้าคนก็ไม่ต้องขอโทษ
                  ความจริงการผ่ายลมเป็นกริยานานาชาติ  ที่่่่่ทุกชาติทุกภาษาปฏิบัติไปตามธรรมชาติเหมือน  การกิน  การเดิน   การวิ่ง  เพียงแต่ถือมากถือน้อยต่าง ๆ กันไปตามธรรมเนียมนิยมของคนในชาตินั้น ๆ ว่าเป็นการเสียมารยาทมากหรือน้อยในการที่จะมีเสียงและกลิ่นหลุดรอดออกมาให้ปรากฏ
                 ว่ากันว่าพม่านั้นถือมากเรื่องการผายลม       ถือเป็มารยาทเลวชนิดให้อภัยกันมิได้เลยทีเดียว     มีผู้เล่าว่าหญิงสาวกับชายหนุ่มคู่หนึ่งหมั้นหมายกันแล้วและเตรียมจะแต่งงาน    ขณะนั่งคุยกันอยู่สาวเกิดผายลมออกมาอย่างกลั้นไม่ได้   เกิดความอับอายขายหน้าจนพรรณนาไม่ถูกถึงกับขอตัวไปในห้องแล้วผูกคอตายหนีความอาย
                 สำหรับคนไทยนั้นไม่ได้ถือกันมากมายขนาดพม่า เห็นเรื่องเขินนิด ๆ ขันหน่อย ๆ                เสียละมากกว่า    แต่อย่างไรก็ตามทีถ้ารู้ตัวว่าจะนั่งรถติดเครื่องปรับอากาศและปิดมิดชิดลำพังสองต่อสองกับหนุ่มที่ต้องใจ      สาวไทยก็ไม่นิยมกินถั่ว (เพราะถั่วเป็นสัญญาลักษณ์ของประชาธิปไตย  ถั่วทุกเม็ดมีสิทธิ์ออกเสียง) หรืออาหารอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะก่อให้เกิดแก๊สในท้อง   เนื่องจากรถยนต์ซึ่งคับแคบนั้นเก็บซ่อนกลิ่นและเสียงได้อยาก     และไม่อาจหันไปมองหน้าผู้อื่นเป็นเชิงกล่าวโทษและป้ายความผิดได้  เนื่องจากนั้งกันอยู่เพียงสองคนเท่านั้น

                  การผายลมนั้น    ถ้าอยู่กันหลายคนมักจะโทษกันไปมา   คนไทยผู้รวยอารมณ์ขันจึงเอาไปตั้งปัญหาอะไรเอ่ยว่า "อะไรเอ่ย   อยู่คนเดียวรู้คนเดียว   อยู่สองคนรู้สองคน   อยู่สามคนรู้คนเดียว"  เป็นตลกแบบไทย ๆ ให้เฮฮากันแบบไทย ๆ อีกเหมือนกัน   เรื่องการผายลมนึ้ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์    ปราโมช  เคยเขียนเอาไว้ในเรื่องถั่วว่า   " การผายลมมีทั้งกลิ่นและเสียง"  กลิ่นนั้นไม่สู้กระไรนัก    ถ้าหากว่าไม่มีเสียงประกอบแล้วเรามักจะหาความคนอื่นได้เสมอว่าเป็นผู้ปล่อยกลิ่นนั้นออกมา

                  เช่นอยู่ในลิฟต์กันห้าหกคน   เกิดมีกลิ่่นขึ้้นมาเพราะเราปล่อยมันออกไป   เราก็อาจหันไปจ้องหน้าคนที่เราเห็นว่าอาจเป็นภัยแก่เราได้น้อยที่สุด   แล้วเลิกคิ้วในทำนองตั้งคำถามเงียบ ๆ ว่า " ทำไม่ทำอย่างนั้น  ไม่น่าทำเลย"  ถ้าเรามีบุคลิกที่แข็งแรงพอ    เราอาจข่มขู่ ด้วยกำลังใจให้คน ๆ นั้นยอมรับได้ด้วยอาการกิริยาเช่นหน้าม่อยไป   ว่าเขาเป็นผู้ทำให้เกิดกลิ่นนั้นจริง

                  คนอื่น ๆ ในลิฟต์ก็จะคิดว่าเราไม่ได้เป็นผู้ทำ    เพราะเราได้ทำให้ปรากฏว่าตัวเราเองเป็นเจ้าทุกข์เ้หมือนกับคนอื่น ๆ    แต่ในกรณีกรรมอย่างนี้   ถ้าหากว่ามีเสียงประกอบด้วยแล้วเสียงนั้นเองจะเป็นโจทย์ฟ้องว่าเราเป็นผู้ทำ   ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

                  แหม่ม เมื่อแปดสิบปีมาแล้วนั้น   นุ่งกระโปรงกว้างมีหลายชั้น   เมื่อเกิดเหตุเช่นนี้กับตนหรือกลั้นไว้ไม่อยู่     จำต้องปล่อยลมออกจากตน   ก็จะเขย่ากระโปรงทำให้เกิดเสียงดัง  กลบเสียงลมนั้นได้

                  "จอมพลสตาลินแห่งรุสเซีย   เคยใช้วิธีเขย่าขวดน้ำ  ซึ่งจะมีตั้งไว้เสมอที่โต๊ะทำงานเพื่อกลบเสียงนี้" การผายลมในที่สาธารณะอาจจะเป็นที่ขบขันแกมรำคาญของผู้อยู่ในเหตุการณ์ทว่ามิใช่ผู้ปฏิบัติการ    ส่วนผู้ก่อเหตุนั้นถ้าทะลึ่ง ๆ หน่อยก็อาจจะขบขันเฮฮาเสียเองแต่บางรายหน้าบางก็ทำเฉยเสียเหมื่อนไม่รู้ไม่ชี้อะไรด้วย    จึงมีเรื่องเล่าเรื่องหนึ่งว่า  ชายคนหนึ่งขณะนั่งเรือจ้างข้ามฟากก็เกิดผายลมออกมาอย่างสุดกลั้น   ปฏิบัติการนี้แม้จะปราศจากเสียงแต่ก็ส่งกลิ่นขจรขจายไปทั่วและทำให้ผู้โดยสารทุกคนมองหน้ากันเลิ่กลั่กไปตามกัน   แต่หนุ่มเจ้าของเรื่องก็สามารถทำสีหน้ากลมกลืนไปกับทุกคนจนไม่มีใครสามารถจับได้    คนแจวเรือจ้างนั้นอยากรู้มากกว่าใคร ๆ  ว่าผู้โดยสารคนไหนทำให้เรือของแกเป็นอัปมงคลแต่เช้า   ดังนั้นพอทุกคนก้าวขึ้นจากเรือซึ่งสมัยนั้นที่ท่าแห่งนี้เป็นธรรมเนียมว่าจะต้องหย่อนสตางค์ลงที่กระป๋องหัวเรือเป็นค่าโดยสารคนละสลึงโดยไม่ต้องย้อนไปให้คนแจวที่ท้ายเรืออีก    พอผู้โดยสารก้าวขึ้นสู่ท่าหมดตาคนแจวเรือเจ้าอุบายก็ร้องลั่น

                  "เฮ้ย! คนที่ตดน่ะ่ไม่ได้ให้เงินนะโว้ย"   หนุมเจ้าของเรื่องหันขวับกลับมาทันที "ให้แล้ว"

ก็อย่างที่บอกแล้วว่าคนไทยเห็นการผายลมเป็นเรื่องธรรมดชาติ   คือเป็นเรื่่องขัดเขินปนขบขัน
คุณสุวัฒน์  วรดิลก   นักเขียนชื่อดังเล่าให้ฟังว่าโบราณนั้นถึงกับผูกเรื่องการผายลมเป็นกลอนให้ครึกครื้นไปเสียอีก

                    จึงขอคัดกลอนที่คุณสุวัฒน์ท่องให้ฟังโดยใช่คำย่อแต่พอเป็นกระสาย  ผู้อ่านจงพึงเพิ่่มตัว "ด" หลังตัว  "ต"          เอา่เองเทอญ


                            ต.  พระ  ต.  เณร                            ต.  ตาเถรยายชี

                            ต.  กันได้  ต.  กันดี                         ต.  จนจีวรตุง

                            ต.  เจ๊ก  ต.  แขก                             ต.  กันแปลกภาษา

                            ต.  มอญ  ต.  พม่า                           อีกทั้งเจ๊กกวางตุ้ง

                            ต.  คนแก่เหม็นคาวง                      ต.  คนสาวหอมฟุ้ง !!

                     กลอนโบราณลงท้ายเจ็บแสบอย่างนี้นี่เล่า   คนแก่คนเฒ่าเวลาผายลมเขาจึงไม่เสียเวลาขอโทษให้รำไร.....ก็ไหน ๆ มันก็เหม็นคาวสู้ของคนสาวเขาไม่ได้อยู่แล้วจะขอโทษไปทำไมให้ป่วยการ  ก็คงเหมือนที่ภาษิตจีนเขาว่านั่นแหละว่า     การทำอะไรบางเรื่องนั้นสู้ไม่ทำเสียดีกว่า      ทำไปก็เหมือนทอดกางเกงผายลม   ทั้งยุ่งยากและไม่จำเป็น



                                                                                                                        CHANPA


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น