วันอังคารที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2555

คลี่ฟิล์ส่องภาพ (ภาพยนตร์เรื่องช้าง)


เบื่องหน้าเบื่องหลังภาพยนตร์เรื่องช้าง พ.ศ. ๒๔๖๕

 เมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๔๖๕   คณะสร้างภาพยนตร์ของบริษัท ยูนิเวอร์แซลเดินทางมาถึงประเทศไทยเพื่อสร้างภาพยนตร์     และเดินทางกลับเมื่อปลายมิถุนายน   พ.ศ. ๒๔๖๖   พร้อมด้วยกระป๋องฟีล์มเรื่อง  "นางสาวสุวรรณ"  ติดมือไปอเมริกาด้วย   จนกระทั้ง พ.ศ. ๒๔๖๙ มีฝรั่งชาติอเมริกันนักสร้างหนังชื่อ  มีเรียม  ซี.  คูเปอร์  และ  เออร์  เนสท์  บี. โ้ดแส็ค  เดินทางเข้ามาประเทศสยามสร้างภาพยนตร์เกี่ยวแก่สัตว์ป่าต่าง ๆ ให้แก่บริษัทพาราเม้าท์

ก่อนจะเล่าเรื่องของนักสร้างหนังสองคนนี้     ขอเปิดเผยปูมหลังของคนทั้งสองให้ทราบบ้างเล็กน้อย    ทั้งคู่เป็นทหารผ่านศึกกองหนุนจากสงครามโลกครั้งแรก  มีเรียม  ซี.คูเปอร์  เกิดเมื่อ  ๙  ตุลาคม  พ.ศ. ๒๔๓๖  เป็นชาวเมืองแจ็คสันวิลล์    สำเร็จการศึกษาที่แอนนาโพลิส   ยศชั้นสุดท้ายก่อนปลดประจำการเป็นนายพันเอก    ส่วนเออร์เนสท์  บ๊.โช้คแส็ค  เป็นชาวเมืองเค้าซิลลั๊ฟส์  รัฐไอโิอวา  เกิดเมื่อ  ๘  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๔๓๖  ก่อนสงครามมีอาชีพอยู่ในวงการภาพยนตร์ในฐานะเป็นช่างภาพที่โรงถ่ายของ  แม็ค  เซนเนท   เมื่อปลดประจำการมียศแค่นายสิบเอก

ทั้งสองคนนี้มีความคิดเห็นเดียวกัน    จึงได้ร่วมงานสร้างเรื่อง " Grass" ให้พาราเม้าท์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘  เดินทางมาสยามครั้งนี้เพื่อสร้างภาพยนตร์เรื่อง  "Chang"  (ช้าง)  ครั้งแรกมีการกำหนดว่าจะไปสร้างที่ อินโดจีน  ซึ่งยุคนั้นเป็นเมื่องขึ้นฝรั่งเศส   ต่อมาทราบว่าช้างในสยามน่ารักกว่าช้างเมืองอื่น ๆ จึงเปลี่ยนมาถ่ายทำในเมืองไทย   นอกจากมีช้างจำนวนมากแล้วสัตว์ป่าอื่น ๆ ที่น่าดูและหายากก็มีอีกหลายชนิด  ซึ่งเหมาะจะเก็บภาพเอาไว้บนฟิล์มทั้งนั้น

เมื่อตกลงเลือกเมืองไทยเป็นที่ถ่ายหนัง  ฝรั่งสองนสยกำหนดเอาเมื่องน่านเป็นค่ายพักปักหลักเป็นสถานที่ถ่ายทำของเขา    และปัญหาใหญ่อีกอย่างคือพูดกันไม่ค่อยรู้เรื่อง  จึงต้องหาล่ามที่รู้จักภาษาอังกฤษไว้ใช้หลายคน  ขณะนั้นทางภาคเหนือคนพื้นเมืองยังใช้ภาษาลาวกันส่วนมาก  ดังนั้นจึงต้องมีล่ามภาษาลาวไว้ด้วย   จุดประสงค์ของการสร้างหนังเรื่องนี้จะแสดงความเป็นอยู่ของสัตว์ป่าทุกชนิดเท่าที่มีอยู่ในเมืองไทย       ดังนั้น    นอกจากช้างเป็นดารานำแล้ว  ตัวประกอบก็ต้องมีเสือ, เม่น, งู, ลิง, ควายป่า, แพะ ฯลฯ ตลอดจนสัตว์ป่าอื่น ๆ เท่าที่จะหาได้ ทุกอย่างต้องการให้เป็นธรรมชาติมากที่สุด

สถานที่ถ่ายทำคือ ตำบลท่าล้อ ริมฝั่งแม่น้ำน่าน   ซึ้งภูมิประเทศสวยงาม   มีทั้งป่าละเมาะ  ท้องทุ่ง  ทิวเขา  และป่าทึบ  และบางตอนต้องสร้างขึ้นเองด้วยฝีมือชาวพื้นเมือง  ใ้ช้แรงงานประจำอย่างน้อยประมาณวันละร้อยคน   และอย่างมากกว่าสองร้อย  โดยจ้างเป็นรายวัน  ในจำนวนมากบ้างน้อยบ้างตามความจำเป็น    กว่าจะลงมือถ่ายทำได้ต้องตั้งค่ายพักอยู่เป็นเวลานาน   เริ่มด้วยเสาะหาสัตว์ป่าต่าง ๆ  มาสะสมไว้ก่อน    ช้างเป็นตัวละครสำคัญของเรื่อง   แต่ช้างที่แสดงในเรื่องมิใช่ช้างป่าที่เพิ่งจับมาสด ๆ ร้อน ๆ แต่เป็นช้างบ้านที่เขาเลี้ยงเอาไว้ใช้งาน    จึงต้องป่าวร้องขอเช่าช้างเท่าที่หาได้ในเมืองนาน   แต่ยังได้จำนวนไม่พอ  ก็เที่ยวตระเวนหาเช่าจากตำบลต่าง ๆ จนถึงเมืองอุตรดิตถ์   รวมช้างเข้าแสดงประมาณหนึ่งร้อยยี่สิบเชืือก

สำหรับสัตว์ดุร้ายอื่นที่ร่วมแสดงด้วยเช่นเสือนั้นหาเช่าไม่ได้  ไม่มีชาวบ้านคนใดนิยมเลี้้ยงเสือไว้ดูเล่นอย่างแมว    การจะได้เสือมาร่วมใมแสดงก็ต้องป่าวประกาศให้พรานป่าจับเสือมาขาย  ซึ่งสมัยนั้นพรานพื้นเมืองใช้วิธีจับเสือโดยการดักด้วยจั่นและใช้หมาเป็นเหยื่อล่อ     การดักเสือด้วยวิธีนี้ไม่ค่อยได้เสืออย่างต้องการ  เสือที่ดักได้มักตัวเล็กไม่น่าดู  แล้วก็ไม่ได้จำนวนมากที่ต้องการ    จึงต้องสั่งซื้อเสือลายพาดกลอนขนาดใหญ่แปดศอกจากมาเลเซีย     ซึ่งสมัยนั้นใช้ชื่อว่ามาลายูและยังเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ

ส่วนสัตว์ป่าอื่น ๆหาได้ไม่ยากเย็น   เมื่อประกาศรับซื้อสัตว์อะไรก็มีพรานจัดหามาให้ตามต้องการ  ใช้เวลาเตรียมตัวสะสมสัตว์ต่าง ๆ เป็นเวลากว่าหกเดือน   ใช้เงินลงทุนในการซื้อสัตว์ด้วยงบประมาณเหยียบแสนบาท   ซึ่งนับว่าเป็นเงินจำนวนมากทีเดียวในสมัยนั้น  เมื่อได้สัตว์นา ๆ ชนิดพร้อมแล้วก็เริ่มลงมือถ่ายทำตามเนื้อเรื่องที่เขียนบทไว้เรียบร้อยแล้ว     การถ่ายทำหนังเรื่องช้างนี้หาได้ดำเนินงานที่ภาคเหนืออย่างเดียวไม่     ส่วนใหญ่ปักหลักทำงานอยู่ที่จังหวัดน่าน    แต่บางตอนยกกองไปถ่ายทำในป่าทางใต้   เช่นที่สุราษร์ธานี, ชุมพร,  พัทลุง, และสงขลา

ภาพยนตร์เรื่อง  "ช้าง " สำเร็จด้วยความวิริยะและฝีมือของ มีเรียม  ซี.คูเปอร์  และเออร์เนสท์  บี. โช็ดแส็ค  โดยเรียบร้อย   จนเป็นหนังมีชื่อเสียงโด่งดังรู้จักกันทั่วโลก แม้ในปัจจุบันยังกล่าวถึงหนังเรื่องนี้กันอยู่    แต่ตอนเข้ามาถ่ายทำนั้นไม่ค่อยมีผู้ใดทราบกันนัก          มาทราบเอาเกรียวกราวตอนที่บริษัทพาราเม้าท์ส่งฟิล์มเข้ามาฉายในเมืองไทย  เมื่อ พ.ศ.  ๒๔๗๑ (!!!!!!ตอนนั้นผมยังไม่เกิดแต่โชคดีมาก ๆ ที่ได้รับชมภาพยนตร์เืรื่องนี้นับว่าไม่เสียชาติเกิดเป็นคนไทยครับ.....!!)  เล่ากันว่ามีฝรั่งสองนายดอดเข้ามาเอาของดีของเราไปหาเงินได้ทั่วโลกจนรวยไปตาม ๆ กัน

สมัยนั้้้นหนังสือพิมพ์ที่ลงพิมพ์เรื่องหนังล้วน ๆ ไม่ค่อยมี  เมื่อเรื่อง "ช้าง"  เข้ามาฉายครั้งแรกหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ " สารานุกูล " ของ "หลวงสารานุประพันธ์"มีส่วนได้ช่วยโฆษณาให้หนังเรื่อง "ช้าง" อย่างครึกโครม    โดยจัดทำเป็นฉบับพิเศษหาเรื่องเกี่ยวกับช้างมาลงพิมพ์   ตลอดจนเกร็ดย่อยของการถ่ายทำอย่างน่ารู้   ผู้ที่เขียนเรื่องให้แก่สารานุกูลเป็นนักเขียนสมัครเล่นผู้หนึ่งใช้นามแฝงว่า
"หนานไผ่" เป็นผู้ติดตามกองถ่ายไปด้วย  ได้เห็นการถ่ายทำและวิธีการพลิกแพลงต่าง ๆ  ด้วยตาของตนเอง     มีเบื่องหลังที่น่ารู้จึงขอคัดลอกข้อเขียนของเขามาลงด้วยเป็นบางตอน   ซึ่งตามเนื้อเรื่องที่เห็นจากภาพฉายดูราวกับเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง ๆ ในป่าลึกห่างไกลไม่มีเส้นทางติดต่อกับตัวเมือง    แต่มีกลเม็ดการถ่ายทำของผู้สร้าง  ช่วยให้เวลาชมภาพยนตร์ดูสนุกตื่นเต้นแทรกบทตลกรู้ชีวิตการดำรงชีวิตในป่า ความผูกพันความรักความหวงแหน การดิ้นรนการต่อสู้ทุกอย่างมีครบ (ไม่พากษ์ไทยอย่างเดียว )

".....ตอนหนึ่งที่ข้าพเจ้าจะเว้นกล่าวถึงเสียมิได้คือตอนที่นายกรุซึ่งเป็นพระเอกของเรื่องกับพวกช่วยกันจับลูกช้างได้จากหลุมที่นายกรุดักไว้  แล้วนำลูกช้างมาผูกไว้ใต้ถุนเรือน  ภายหลังแม่ช้างมาทำลายเรือนของนายกรุเพื่อชิงลูกของมันคืนไป     การแสดงตอนนี้เป็นไปโดยเรียบร้อยสนิทสนม   แต่ทั้งนี้หาใช่เพราะช้างแม่ลูกได้รับการฝึกสอนบทบาทตอนนี้จนมีความชำนาญไม่   ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นความสามารถของผู้ทำภาพยนตร์ชัด ๆ เขาใช้ความเป็นอยู่ของช้างตามธรรมชาติจริง ๆ ต่างหาก   สำหรับการทำภาพยนตร์ตอนนี้ข้าพเจ้าขอเล่าย่อ ๆ ได้ว่า    เขาปลูกเรือนแบบชาวป่าขึ้นหลังหนึ่ง  ส่วนภาพภูมิประเทศที่ดูเป็นป่านั้น   ความจริงเป็นป่ากำมะลอสำเร็จขึ้นโดยฝีมือของพวกลาว  ต้นหมากรากไม้ต่าง ๆพวกกุลีลาวปลูกขึ้นเสร็จภายในวันสองวันเท่านั้นเอง......"

"......เมื่อเสร็จจากปลูกบ้านและทำป่าแล้ว     เขาก็นำลูกช้างมาผูกไว้ใต้ถุนเรือนตามท้องเรื่อง ตัวเรือนนั้นมีพื้นต่ำกว่าหลังช้าง   พอจัดการผูกช้างเสร็จแล้วก็ปล่อยแม่ช้างออกมาเพ่นพ่านอยู่แถวนั้นก่อน    ลูกช้างได้ยินเสียงหรือได้กลิ่นแม่ของมันก็ร้องเอ็ดขึ้น    ส่วนแม่ช้างได้ยินเสียงลูกร้องก็วิ่งเข้าไปหา  แต่ก็เข้าใต้ถุนเรือนไม่ได้  เพราะพื้นเรือนต่ำกว่าหลังของมัน  และด้วยความอยากได้ลูกของมันคืนมา    จึงจำเป็นที่แม่ช้างจะต้องทลายเรือนหลังนั้นให้พินาศเสียก่อน  แล้วจึงจะเข้าหาลูกได้สมประสงค์  ข้อนี้แหละจึงสมเหตุสมผลเหมาะกับเนื้อเรื่อง  ส่วนตอนที่ช้างทั้งโขลงพากันเข้ามาทลายหมู่บ้านก็มีสภาพทำนองเดียวกันนี้เอง  ผิดแต่ซ่อนลูกช้างไว้เสียไม่ให้เห็น   และต้อนฝูงช้างให้เข้าไปหาลูก....."

เป็นฉากสำคัญทั้งประทับใจคนดูและตื่่นเต้นมาก   ต่างวิจารณ์การถ่ายทำกันต่าง ๆ นา ๆ และคงคลายสงสัยเมื่อได้อ่านเบื่องหลังของมัน   คุณ " หนานไผ่ "  เล่าตอนหวาดเสียวจากเบื่องหลังการถ่ายทำไว้ดังนี้

"......อีกตอนนับว่าสำคัญเหมือนกัน    คือตอนที่เสือต่อสู้กับควายในท้องเรื่องที่เป็นภาพยนตร์แล้วคือตอนที่ควายของนายกรุออกจากคอกไปหาหญ้าและน้ำกิน   และต้องผจญกับเสือใหญ่ตัวหนึ่ง  ผลที่สุดควายเป็นฝ่ายปราชัย   และเสือได้ควายเป็นอาหารอันโอชะของมัน.......!!! การทำภาพยนตร์ตอนนี้ไปจัดทำที่ตำบลเวียงเหนือในเขต  โรงเรียนมิสชันนารีรังษีเกษม  ใช้ที่เป็นรูปไข่ทำเป็นพะเนียดมีเนื้อที่หนึ่งพันห้าร้อยตารางเมตร  ใช้ไม้ไผ่ทั้งลำปักเป็นพะเนียดสูงประมาณห้าวา    เพื่อป้องกันเสือกระโดดออก   ส่วนกล้องถ่ายตั้งอยู่ภายนอกพะเนียด  โดยเป็นห้างสูงประมาณหกศอกเจาะช่องพอปากกล้องลอดเข้าไปข้างในได้   แล้วปล่อยเสือออกมาก่อน     ปล่อยควายออกมาที่หลัง  พอเจ้าควายออกมาพบเสือและได้กลิ่นก็ชะงัก   แต่เจ้าเสือคงนอนนิ่ง  แต่กระนั้นปรากฏว่าเจ้าควายมิได้ถอยห่างไปจากเจ้าเสือเลย  มิหนำซ้ำยังพยายามเข้าไปหาเจ้าเสือจนใกล้  พอได้ระยะเอื้อมถึงเจ้าเสือใช้เท้าหน้าตบหน้าเจ้าควายก่อน สำหรับเจ้าควายตัวนี้ข้าพเจ้าเห็นว่ามันดุและเปรียวพอใช้    มันไม่ยอมทำท่าหงอยเจ้าเสือเลย  พอถูกเสือตบหน้า  เจ้าควายก็เกิดบ้าเลือดขึ้นมาทันที  และดุราวกับควายป่าก็ไมปาน  เจ้าควายไม่ยอมให้เจ้าเสือตบซ้ำ   รี่เข้าขวิดเจ้าเสือสวนควันอย่างว่องไวปลายเขาจมอยู่ที่ซี่โครงเสือประมาณหนึ่งคืบ  แต่ต่อจากนั้นเจ้าควายก็คุมเชิงเจ้าเสือแจ   ถ้าเจ้าเสือขยับตัวแม้แต่นิดหนึ่งก็โจนเข้าขวิดทันที   ผลที่สุดของการสงครามระหว่างเสือกับควายนี้ก็ปรากฏโดยชัดเจนว่าเสือเป็นฝ่ายปราชัย     ส่วนในท้องเรื่องจริง ๆ นั้นอุปโลกน์ให้เสือเป็นฝ่ายชนะควายและได้กินควาย    ทีจริงก็น่าเสือจะเป็นฝ่ายแพ้  เพราะข้าพเจ้าทราบมาเลา ๆ ว่าเสือตัวนี้ได้มาจากเวียงจันทน์  กว่าจะมาถึงทีทีถ่ายทำภาพยนตร์เจ้าเสือก็บอบแบบเต็มที   พอปล่อยออกจากกรงก็ดูเชื่องซึมจนจะกลายเป็นแมวไปเสียแล้ว   ถ้ามีผู้บอกว่าเสือสู้กับควายแล้ว  ควายคงจะไม่โง่ให้เสือเถือเอาตามชอบใจ   ถึงวัวก็เถอะเสือคงจะทำเล่นง่าย ๆ   เหมือนอย่างที่เขาเข้าใจกันอยู่ทุกวันนี้ว่าเสือต้องกินวัว   หรือวัวกลัวเสือเสียจริงจัง  แม้เพียงเห็นรูปเสือก็ขนหยอง....!!!

"........เจ้าเสือตัวที่สู้กับควายนี้ถูกขวิดเสียบอบร่อแร่เต็มทน  อยู่ไปก็ไม่รอด  เขาจึงสำเร็จโทษให้ตายเร็ว ๆ เสียด้วยไรเฟิ้ล  และถลกเอาแต่หนังศรีษะเท่านั้น   ถึงเจ้าเสือจะทำความยุ่งยากให้แก่พวกทำภาพยนตร์จนถึงต้องเสียลูกปืน  ก็ยังไม่สู้เจ้าควาย  การตอนจับเจ้าควายให้ออกจากเพนียดนั้นข้าพเจ้าออกรู้สึกลำบากใจแทน   เจ้าควายบ้านตัวนี้ตั้งแต่ถูกเจ้าเสือตบครั้งแรก   ก็บังเกิดการบ้าเลือดเอามาก   กลายเป็นควายป่าที่ดุร้ายที่สุด   เมื่อหมดหนทางที่จับได้แล้วเขาก็ต้องปราบเสียด้วยปืน....."

".......ตอนควายสู้กับเสือนี้  ข้าพเจ้ายังเห็นว่าสู้ตอนเสือสู้กับคนไม่ได้   สัตว์ต่อสัตว์สู้กัน   แม้ว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะล้มตายหรือตายทั้งสองข้างก็ไม่เป็นของอัศจรรย์อะไร   แต่ถ้าเป็นมนุษย์แล้วใครเลยจะลงทุนเป็นผู้แสดงอย่างนั้น   ข้าพเจ้ารู้สึกว่าพวกทำภาพยนตร์ทำตอนคนกับเสือจะได้ผจญกันนี้สนิทแนบเนียนมาก   อันเป็นภาพที่สามารถกระทำให้ผู้ดูหวาดเสียวมีความตื่นเต้นได้  แต่ไม่ทำให้ผู้แสดงมีอันตรายอย่างใดเลย

".......ตอนคนถูกเสือไล่นี้เขาถ่ายริมฝังแม่น้ำน่านตรงกันข้ามหน้าโรงทหาร   พื้นที่ตรงนั้นเป็นเนินหรือดอยเตี้ย ๆ เขาจัดการตัดดอยจนไม่มีเลยทำให้ดูคล้ายหน้าผาชัน   ตรงหน้าผาที่ตัดนี้ขุดเป็นหลุมกว้างประมาณห้าเมตรยาวแปดเมตร  ลึกอยู่ในราวแปดเมตร   บนดอยข้างหลุมก็สร้างเป็นป่าขึ้นให้เหมือนกับป่าที่มีเสืออยู่จริง ๆ ส่วนข้างหลุมทำเป็นที่ป้องกันมิให้เสืออ้อมมาทำร้ายคนได้  ผู้แสดงกับกล้องถ่ายอยู่ด้านหนึ่งของหลุม  ส่วนเจ้าเสื้อปล่อยให้อยู่อีกด้านหนึ่งเมื่อผู้แสดงออกไปล่อ    เจ้าเสือได้กลิ่นและเห็นคนก็วิ่งตรงเข้ามาจะทำร้ายแม้เสือกระโดดจนสุดกำลังอย่างใดก็ข้ามมาถึงฝั่งคนอยู่หาได้ไม่ทุกคราวที่เสือกระโดดมาหาคนเป็นตกลงในหลุม   ซึ่งเบื่องล่างมีกรงและตาข่ายคอยรับ    แล้วจับเสือขึ้นมาปล่อย  ให้กระโดดทำร้ายจนตกหลุมกลับไปกลับมาดังนี้อีก   เลยกลายเป็นภาพที่หวาดเสียวดูน่าตื่นเต้น.....!!! "

"........เมื่อการสร้างเรื่อง  "ช้าง" สำเร็จเรียบร้อยแล้ว   มีปัญหาตามมา  คือเรื่องสัตว์ป่าต่าง ๆ ที่แสวงหามาแสดงในเรื่องเล่านั้นจะทำอย่างไรกับมันดี   ตอนแรกก็หาซื้อสะสมด้วยความยากลำบากและราคาแพงครั้นจะนำกลับอเมริกาด้วยก็ไม่อาจทำได้   จึงนำออกขายทอดตลาด  ปรากฏมีผู้นิยนซื้อสัตว์เหล่านั้นเหมื่อนกัน  เพราะราคาเหมือนกับได้เปล่า  แต่เลือกเอาแต่สัตว์เล็ก ๆ ที่นำไปเลี้ยงได้  ส่วนช้างที่เช่ามาก็จัดส่งคืนเจ้าขอวไป    สัตว์ที่กลายเป็นราคาถูกที่สุดคือเสือ  ซื้อมาตัวละหลายร้อยบาท   เลหลังด้วยราคาถูกที่สุดก็ไม่มีผู้รับซื้อไว้   ครั้นจะปล่อยเข้าป่าไปตามเดิมก็ทำไม่ได้   แม้เสือจะถูกยิงตายในการแสดงหลายตัวก็ยังมีเหลืออยู่อีกหลายตัวเหมือนกัน    เมื่อหาผู้ซื้อไม่ได้ก็จัดการประหารเสียด้วยลูกปืนถลกเอาแต่หนังและหัวของมันกลับไปด้วย.....!!!!!! "

นอกจากเรื่อง "ช้าง"  มีเรียม  ซี.คูเปอร์  และเออร์เนสท์  บี. โช็ดแส็ค   ฝากฝีมือและชื่อเสียงไว้แก่โลกภาพยนตร์อีกเรื่องหนึ่งคือ  "คิงคอง"  ซึ่งสมัยนั้นเรียกว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่แปดของโลก  โดยถือว่าการถ่ายทำมีกลเม็ดอย่างพิสดารเพิ่งค้นคว้าได้เป็นของใหม่จนต้องปกปิดเป็นความลับ  ครั้นถึงยุคไฮเท็คซึ่งการถ่ายทำภาพยนตร์ได้พลิกแพลงอย่างน่าพิศวง  คำเปรียบเปรยนั้นก็ตกไป



นายกรุ,  มีเรียม  ซี.คูเปอร์,  เออร์เนสต์  บี. โซดแสค,  

















































































Chanpa

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น