วันพุธที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ธรรมะจากจั๊กแร้


ถ้าจะถามว่าคนเรากลัวกลิ่นอะไรที่สุด   อาจจะได้รับคำตอบแตกต่างกันไปหลายสิบคำตอบ      แต่จะตอบว่ายังไงก็ตาม   ลงท้ายก็คงจะพอประมวลได้ว่ากลิ่นชนิดต่าง ๆ ที่คนกลัวนั้นคือกลิ่นเหม็น    และที่อาจจะนึกกันไม่ถึง   แต่เป็นความจริงยากที่ใคร ๆ จะโต้แย้งได้ก็คือในบรรดากลิ่นเหม็นที่คนเรากลัวกันนักหนานั้นมีอยู่อย่างหนึ่งที่ใคร ๆ ต้องยอมรับว่าพิษสงของมันร้ายกาจเป็นที่ครั่นคร้ามกันทั่วไป

                    ครับ-กลิ่นตัวของเราเองนี่แหละ   สิ่งมหัศจรรย์ที่สุดอย่างหนึ่ง
ในโลกนั้นได้แก่ร่างกายของมนุษย์    ในร่างกายของคนเราแต่ละคนแต่ละร่างนี้ท่านว่ามีต่อมเหงื่ออยู่ประมาณสองล้านต่อม  ( ใครไม่เชื่อก็เชิญลองนับดู  และถ้าได้มากหรือน้อยกว่านี้โปรดแจ้งให้แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยทราบที่หมายเลขโทรศัพท์  (ในกรุงเทพฯมหานคร)  ๓๑๔-๔๓๓๓ กรุณาอย่าบอกว่าผมบอกเป็นอันขาด เพราะผมไม่มีความใฝ่ฝันทะเยอะทะยานที่จะมีชื่อเสียงในแขนงวิชากายวิภาคศาสตร์หรือสรีรวิทยา) ต่อมเหงื่อสองล้านต่อมนี้ท่านว่าสามารถขับเหงื่อออกมาได้ตั้งแต่หนึ่ง ไพนต์  ไปจนถึงสาม ควอร์ต ภายใน ๒๔ ชั่วโมง  ปริมาณของเหงื่อจะมากหรือจะน้อยท่านว่าแล้วแต่เจ้าของร่างกายจะออกกำลังมากหรือน้อยเพียงไหน    อากาศในขณะร้อนหรือเย็นเพียงใด    และเจ้าของร่างกายประสาทเครียดมากน้อยแค่ไหน  ( ใครไม่รู้ว่า ไพนต์ (pint) หนึ่งและ ควอร์ต (quart) หนึ่งมากน้อยแค่ไหน   ขอบอกว่าแกลลอนหนึ่งเท่ากับ ๔ ควอร์ต  หรือ ๘ ไพนต์  ขอเชิญบวกลบคูณหารเอาตามสติกำลังเหอะ)

                    เหงื่อที่ถูกขับออกมาโดยต่อมเหงื่อนี้    ถ้าหากว่าเจ้าของร่างกายเป็นคนสะอาดร่างกายสมบูรณ์และเหงื่อ ได้รับการปล่อยให้แห้งโดยเสรีก็ไม่มีปัญหาอะไร   จะเห็นว่านักกีฬาทั้งหญิงและชายส่วนมากภายหลังการเล่นกีฬาอย่างหนักเหงื่อออกชุ่มโชกไปทั้งตัวแต่ก็ไม่มีปัญหาเรื่องกลิ่นเหงื่อกลิ่นตัวให้ใคร ๆ เดือดร้อน

                    แต่เหงื่อที่ออกมาในบริเวณที่อับและแห้งยาก  เช่น  หว่างขา  หรือรักแร้  หรือเหงื่อที่ถูกปล่อยให้ชุ่มอยู่กับเสื้อผ้า  อาจกลายเป็นปัญหาเรื่องกลิ่นได้อย่างดุเดือด   ที่ไม่ค่อยรู้จักกันก็คือ   สิ่งที่เป็นต้นเหตุแห่งปัญหานั้นไม่ใช่เหงื่อหรือต่อมเหงื่อหรอก   หากแต่เป็น แบทีเรีย
( พืชชั้นต่ำ เซลล์เดียว  ไม่มีนิวเคลียสไม่มีคลอโรฟิลล์  รูปร่างกลม ๆ เป็นท่อน โค้งหรือเป็นเกลียว ภาษาอังกฤษเขียนว่า bacteria  แต่ทำไมราชบัณฑิตจึงอ่านว่า บัคเตรี ก็ไม่รู้แฮะ )  แบคทีเรียที่ว่านี้   สิงสู่อยู่บนผิวหนังของคุณ ๆ ผม ๆ นี่แหละ  และถูกชะตากันนักกับบริเวณที่มีเหงื่อหมักหมมอยู่   พอเจอะกันเข้าคุณแบคทีเรียเธอก็จะจู่โจมเข้าทำกิริยา  ผลก็กลายเป็น
กลิ่นตัวอันมีอิทธิพลกว้างขวางและรุนแรงทำให้เกิดการแตกมิตรอย่างมโหฬารทั่วทั้งโลก

                    กลิ่นตัว    โดยเฉพาะที่ออกมาจากรักแร้หรือจั๊กกะแร้นี้ คนไทยโบราณรุ่นผมเรียกว่า ขี้เต่า  ส่วนคนไทยขี้อายสมัยปัจจุบันเรียกว่าเต่า  เฉย  ๆ ที่เรียกว่าขี้เต่า นั้นเห็นจะไม่ถูกหรอก  เพราะผมเคยดมมาแล้วทั้งขี้เต่าไทยที่วัดเสด็จ ตอนสระยังไม่ถมเหมือนเดี๋ยวนี้บ่อในวัดไม่มีแล้ว  เทคอนกรีดหมด แล้วร่วมทั้งเต่าที่ลูกสาวถูกคนขายหลอกให้นำมาเลี้ยงว่าเป็นเต่าแคระเลี้ยงไปเลี้ยงมาคับตู้เลี้ยงต้องนำไปปล่อยวัด   กลิ่นขี้เต่า(ขี้เต่าจริง ๆ) กลิ่นไม่เหมือนขี้เต่ารักแร้เลยจริง ๆ ครับ  จะเป็นเพราะกลิ่นขี้เต่าสมัยนี้มันต่างกับสมัยก่อนเสียแล้วหรือยังไงไม่ทราบ     ที่เรียกว่า เต่า เฉย ๆ นั้นยิ่งเลอะใหญ่  เพราะผมลองดมดูแล้วเหมือนกัน  กลิ่นเต่าไม่ว่าตัวไหนหรือสัญชาติอะไรก็แพ้กลิ่น  จั๊กกะแร้ทั้งนั้นแหละครับ  แพ้กันอย่างย่อยยับเลยที่เดียว

                 ภาษาแพทย์ ( ซึ่งดูเหมือนจะเป็นภาษาละติน) เรียกกลิ่นตัวหรือขี้เต่าว่า โบรมิโดรสิส
( bromidosis ) ฟังดูโก้พิลึก น่าเอาไปทำสติ๊กเก้อร์ติดกระจกรถยนต์   ใครเห็นว่าโก้น้อยไป  ผมขอแนะนำให้อีกคำหนึ่งคือ โบมิโดรสิโฟเบีย ( bromidrosiphobia ) แปลว่าโรคกลัวขี้เต่า  โรคกลัวขี้เต่านี้ทำให้คนทั่วโลกตะเกียกตะกายดิ้นรนหาอะไรต่ออะไรมาทาจั๊กกะแร้ของตัวเอง โดยสำคัญว่าจะทำให้โบรมิโดรสิสมันหายหรือทุเลาลง  ซึ่งก็ได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้างแต่ที่แน่นอนที่สุดก็คือผู้ทำยาระงับกลิ่นตัวยี่ห้อต่าง ๆ ขายพากันร่ำรวยมหาศาลกลายเป็นมหาเศรษฐีหรือเอกอัครบรมมหาเศรษฐ๊ไปตาม ๆ กัน

                  ยาระงับกลิ่นตัว  ( สมัยนี้ผู้โฆษณาบางรายเรียกอย่างไม่สู้เป็นธรรมแก่เต่านักว่ายา 
"ปราบเต่า")  นั้น ภาษาอังกฤษเรียกว่า ดีออดอแร็นต์ ( deodorant ) คำว่า โอดอร์ ( odor หรือ odour ) แปลว่ากลิ่นตัว   ใส่พรีฝิกซ์ de  ลงไปข้างหน้าก็ทำให้ศัพท์มีความหมายไปทางปฏิเสธคือไร้กลิ่นหรือไม่มีกลิ่น   ยาระงับกลิ่นตัวขนาดดังเดิมที่คนไทยใช้กันมาแต่โบราณจนเดี๋ยวนี้ก็ยังใช้กันอยู่  คือ  สารส้ม ซึ่งภาษาวิทยาศาสตร์เรียกว่า อลูมินัม ซัลเฝต (สูตรเคมีว่ายังไงช่างมันเถอะครับปวดหัวเปล่า ๆ ) สารส้มนี้หาง่ายและราคาถูกแต่คนไทยสมัยใหม่ไม่นิยมใช้กัน  อาจจะเป็นเพราะมีชื่อเป็นภาษาไทยซึ่งเชยส์  ไม่สอดคล้องกับค่านิยมของคนสมัยนี้  ซึ่งชอบใช้ของที่มีชื่อเป็นภาษาฝรั่ง    ถึงแม้จะทำแถว ๆ คลองเตยหรือคลองถมในกรุงเทพมหานครก็ตาม

                  ยาระงับกลิ่นตัวฝรั่ง (และของฝรั่ง) ขนานแรกที่ผมรู้จักและขอกล่าวถึงทั้ง ๆ ที่ไม่เคยได้โฆษณากันเลยนั้น  คือยายี่ห้อ มัม ( Mum ) คำว่า มัม ในภาษาอังกฤษเป็นวิเศษณ์ แปลว่า  เงียบ  หรือไม่กระโตกกระตาก  นับว่าเหมาะสมอย่างยิ่งที่เอามาใช้เป็นชื่อยาระงับกลิ่นตัว
เพราะใครใช้ยายี่ห้อนี้แล้ว  กลิ่นตัวเหือดหายไป  รับรองว่าเดินเข้าไปใกล้ใครคนนั้นจะต้องเงียบไม่แหกปากร้องขึ้นว่า "เหม็นขี้เต่าจริงโว้ย" เหมือนเมื่อก่อนใช้มัม   มัม  ที่ผลิตออกมาทีแรกเมื่อหลายสิบปีมาแล้วนั้นเป็นขี้ผึ้งหรือครีมสีขาว ๆ บรรจุกระปุกและตลับ  วิธีใช้ก็เอานิ้วป้ายแล้วทาที่จั๊กกะแร้ให้ทั่วเท่านั้นเอง

                   ต่อมาก็มียาระงับกลิ่นตัวยี่ห้อและรูปแบบอื่น ๆ  เกลื่อนตลาด บางยี่ห้อทำเป็น
สเปรย์  ซึ่งไม่เป็นที่นิยมนัก  เพราะเวลาพ่น  อาณาบริเวณมันกว้างขวางเลยจั๊กกะแร้ออกไปถึงอวัยวะอื่น ๆ ที่ไม่ได้ตั้งใจจะระงับกลิ่น  มิหนำซ้ำยังอาจจะมากเกินไปจนเฉอะแฉะไหลย้อยทำความรำคาญให้แก่ผู้ใช้   บางบริษัทจึงแก้ไขโดยทำเป็นน้ำแล้วเอาลูกกลมอุดไว้ที่ปากขวด
บังคับให้น้ำยาไหลออกเฉพาะเมื่อเวลาผู้ใช้กลิ่งลูกกลม ๆ ที่ปากขวดไปตามจั๋กกะแร้เท่านั้น
ต่อมาก็มีผู้ผลิตยาระงับกลิ่่นตัวออกเป็นแท่ง ๆ หมุนให้โผล่ออกมาตามความต้องการจากที่บรรจุซึ่งทำเป็นทรงกระบอก  บ้างเป็นรูปแบน ๆ เหมือนขวดบรั่นดีขนาดจิ๋วบ้าง

                 กลิ่นของยาระงับกลิ่นตัวนั้นก็ได้รับการพัฒนาให้หอมคล้ายน้ำอบฝรั่ง บางยี่ห้อก็เจือกลิ่นมะนาวลงไปด้วย   ทั้ง ๆ ที่ไม่มีใครรู้หรือยืนยันได้ว่ามะนาวมีคุณสมบัติสามารถกำจัดหรือระงับกลิ่นตัวได้อย่างไรหรือไม่    ที่จริงจะเป็นสารส้มหรือ มัม หรือยาระงับกลิ่นตัวยี่ห้ออื่น
ใดก็ตาม  ความสามารถของมันมีอยู่คล้าย ๆ กันอย่างเดียวคือ  ปิดขุมขน  ทำให้เหงื่อออกไม่ได้  เมื่อเหงื่อออกมาไม่ได้  แบคทีเรียก็หมดโอกาศที่จะเข้าทำกิริยากับเหงื่ออันจะเป็นเหตุให้
เกิดโบรมิโดรสิสหรือขี้เต่า    สารที่ผสมอยู่ในยาระงับกลิ่นตัวแทบทุกยี่ห้อซึ่งเป็นตัวการทำให้
ขุมขนปิดนั้นคือ อลูมิเนียมคลอไลด์ ( โปรดสังเกตว่าเป็นเกลือของอลูมินัมเช่นเดียวกับสารส้ม)

                  เพราะฉะนั้นจึงพอสรุปได้ว่ายาระงับกลิ่นตัวหรือ "ปราบเต่า"ทั้งหลายนั้น  ไม่ใช่เป็นยาระงับแต่เป็นยาป้องกันกลิ่นตัวโดยทางอ้อม  เพราะเมื่อใช้แล้วยาประเภทนี้เข้าไปขัดขวางหรือตัดโอกาสมิให้แบคทีเรียสามารถแสดงฤทธิ์ของมันได้ เนื่องจากปราศจากความอับและชื่นในส่วนนั้น ๆ ของร่างกายเท่านั้นเอง   ผิดกับสบู่ระงับกลิ่นตัวบางยี่ห้อ  (ถ้าอยากจะให้ระบุยี่ห้อโปรดติดต่อบริษัทไร่ส้มผ่านสรยุทธช่อง ๓ ) ซึงมีสารที่เรียกว่า เฮ็คซาคลอโรฟิน 
( hexachlorophene ) ผสมอยู่  เพราะสารชนิดนี้ทำลายแบคทีเรียอันเป็นสาเหตุโดยตรงของ
โบรมิโดสิสหรือขี้เต่า  สบู่ระงับกลิ่นตัวชนิดที่ว่านี้จึงเป็น   "ผู้พิชิตเต่า" อย่างแท้จริง

                   แต่จะเป็นยาระงับกลิ่นตัวหรือสบู่ระงับกลิ่นตัว  มีอลูมิเนียมคลอไลด์หรือเอ็นซาคลอโรฟีนผสมอยู่ก็ตาม   เมื่อใช้พึงระลึกไว้เสมอว่าทั้งยาและสบู่ย่อมอยู่ภายใต้กฏของอนิจจังเช่นเดียวกับอะไร ๆ ทั่วไปในโลก   คือเมื่อใช้ไปแล้วชั่วขณะหนึ่ง   อลูมิเนียมคลอไรด์หรือ
เอ็กซาคลอโรฟีนย่อมหมดฤทธิ์ไปตามสภาพ   ขุมขนย่อมเปิดออกให้เหงื่อไหลออกมา เป็นโอกาสให้แบคทีเรียสาทารถเข้าทำกิริยา  หรือมิฉะนั้นแบคทีเรียคณะใหม่ก็ย่อมมาถึงและแสดงฤทธิ์ของมันได้



                   โบรมิโดรลิสหรือขี้เต่าก็ย่อมเกิดขึ้นใหม่ได้อีกอยู่นั่นเอง   





Chanpa       

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น