วันอังคารที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ชื่อใครว่าไม่สำคัญ


            ภาษาไทยของเราเป็นภาษามหัสจรรย์ที่สุดในโลก สามารถถอดเสียงสูงเสี่ยงต่ำได้ทุกเสียง   แถมยังอ่านกลับหน้ากลับหลังได้ความหมายแตกต่างกันออกไป    เอาคำที่มีความหมายคนละอย่างมาต่อกันเข้าเป็นคำเดียว   ได้ความหมายขึ้นมาใหม่อีกก็ได้มหัศจรรย์จริง ๆ ครับ  หยั่งคำอ่านกลับหน้ากลับหลัง   หรือที่เราเรียกว่า "คำผวน" นี่ถึงกับมีบทกวีนิพนธ์อันลือชื่อเล่มหนึ่ง ชื่อ (ฟังแต่ชื่อก็เสียวแล้ว) ว่า สรรพลี้หวน แต่งโดยขุนพรหมโลกต้องนับว่าคนแต่งมีพรสวรรค์  (หรือพรนรกก็ไม่รู้)    ในทางนี้จริง ๆ อ่านโดยไม่ผวนจะได้เรื่องได้ราวไปอย่างหนึ่ง   ถ้าผวนจะได้ความหมายไปอีกอย่างหนึ่ง    เสียดายว่าเป็นวรรณคดีต้องห้ามไม่งั้นจะโควตมาให้อ่านเป็น "แซมเปิิล"  สักบท  ใครอยากอ่านก็ไปขออ่านได้ที่เจ้าหน้าที่หอสมุดแห่งชาติ    ดูเหมือนเขาเก็บไว้ชั้นสี่  ไม่บริการทั่วไป ดอกเตอร์  เคลาส์  เว้งก์    ชาวเยอรมันผู้เชี่ยวชาญวรรณคดีไทยเคยมาขอคัดลอกไป  แกอ่านแล้วอุทานว่า   นี่มันวิทยานิพนธ์ระดับดุษฎีบันฑิตเชียวนะ  จะหาคนแต่งอย่างนี้ไม่ได้อีกแล้ว

                   เรื่องคำผวนนี้    บางคนมีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ   เวลาคุยกันในหมู่เพื่อนสนิท  เขาจะผวนให้เฮฮาสนุกสนานทันทีที่มีโอกาส   เช่นผู้ว่าราชการจังหวัดบางคนไม่ขอเอยนามซึ้งในเรื่องศาสนา เช่น การบวชชี ผู้หญิงบวชไม่ได้ทุกคน  ( ไม่รู้ไปอ่านมาจากคัมภีร์ไหน )  เรื่องโภชนาการก็เหมือนกัน   อยากให้มีแรงดี ไม่ให้กำลังลดถอย  ต้องกินอะไร  ไม่กินอะไร  บอกได้หมด  รู้กระทั้งประวัติศาสตร์จีน  โจโฉพ่อชื่ออะไร  ปู่ชื่ออะไร

                   ในแวดวงดงขมิ้น   มีพระผู้ใหญ่รูปหนึ่ง  ได้ชื่อว่าเป็นผู้เชียวชาญในด้านนี้  ชื่อเจ้าคุณเจีย  ท่านสอบไดัเปรียญเก้าประโยครุ่นเดียวกับเจ้าคุณจวน ( ต่อมาได้เป็นสมเด็จสังฆราช)  ทั้งสองรูปเป็นเพื่อนสนิทกันมาก  เมื่อเจ้าคุณจวนได้เป็นสมเด็จสังฆราชแล้ว  เจ้าคุณเจีย  ยังติดแหงกอยู่แค่พระราชาคณะชั้นสามัญ  ไม่ได้เลือนซักที  พระผู้ใหญ่บางท่านให้ความเห็นว่าที่ไม่ได้สมณศักดิ์สูงขึ้นก็เพราะท่านเจ้าคุณเจียชอบพูดคำผวน  ไม่เ้หมาะที่จะเป็นพระผู้ใหญ่  เจ้าคุณเจียเองก็ดูเหมือนจะรู้ดีในข้อนี้  แต่ท่านก็ไม่สนใจ  ยังชอบพูดคำผวนอยู่ตามเดิม

                   คราวหนึ่งมีงานรัฐพิธีที่วัดพระแก้ว   ขณะที่พระเถรานุเถระทั้งหลายกำลังรอ
ในหลวงเสด็จฯ อยู่  เจ้าคุณเจียชี้ไปที่รูปช้างแกะสลักสองตัว  ถามว่า  พวกท่านรู้ไหม  ช้างสองตัว  ตัวไหนตัวผู้  ตัวไหนตัวเมีย  พระเถระบางองค์รู้ทันเจ้าคุณเจียก็ยืนยิ้มเฉย ๆ  อีกหลายองค์อยากรู้จึงกรูเข้าไปจ้องแกะสลัก     เมื่อเห็นว่าไม่มีใครตอบได้   เจ้าคุณเจียจึงชี้ว่านี่ตัวเมีย   ตัวนั้นตัวผู้   ครั้นถูกย้อนถามว่า  รู้ได้อย่างไง   " สังเกตดูหางกับคางมันซิ" เจ้าคุณเจียอธิบาย  "ตัวเมียให้ดูหาง   ตัวผู้ให้ดูคาง"

            พระคุณเจ้าผู้แสนซื่อและบริสุทธิ์ต่างจ้องพินิจพิจารณาหางและคางของรูปแกะสลัก   ขมวดคิ้วด้วยความกังขาเป็นกำลังว่า  เจ้าคุณเจียท่านรู้ได้อย่างไงเพราะมันไม่มีอะไรแตกต่างกันเลย  เจ้าคุณเจียหัวเราะชอบอกชอบใจอยู่องค์เดียว

                   เสฐียรพงษ์  น้องชายรู้จักกันแกเล่าว่า  ตั้งแต่เกิดเรื่องตั้งชื่อลูกเขาว่า  
ชามาตร    ถูกหาว่าแกล้งด่าเขา  "ชาติหมา" คราวนั้นแก่ระมัดระวังมากเป็นพิเศษ   ไม่เฉพาะคำที่อาจจะผวนให้แปลควาหมายได้   แม้คำไม่ผวนเช่น "หมี"  หรือ "ลูกหมี"  แกก็จะไม่เอามาตั้งชื่อเล่นให้ลูกเต้าใครเป็นอันขาด  เพราะกลัวเวลา่ลูกหายไป  พ่อแม่ตามหาลูก  ไม่รู้จะถามชาวบ้านว่าอย่างไรจึงจะสือสารกันรู้เรื่อง  จะถามว่า "ทัศนาลูกหมีไหม" คนฟังอาจไม่รู้เรื่อง

                  ผมว่าไอ้น้องชายผมมันกำลังประสาท    เรื่องพรรค์นี้คิดมากมันก็มากเรื่องไปเปล่า ๆ  เคยได้ยินว่าสมัยก่อนเจ้านายท่านให้เปลี่ยนชื่อพืช สัตว์  เสียใหม่หลายอย่างกลัวว่าเวลาผวนแล้วจะฟังหยาบ  เช่น  ผักบุ้ง  ก็ให้เรียกใหม่ว่า  ผักทอดยอด  ปลาสลิดเปลี่ยนเป็นปลาใบไม้ (อ้ายอย่างแรกน่ะพอจะรู้แต่อย่างหลังมันหยาบอย่างไรผมขอสารภาพว่าผมโง่จริง ๆ ใครจะให้ความกรุณาให้ความสว่างแก่ผมจะขอบคุณมาก)  ชื่ออดีตนายกรัฐมนตรีท่านหนึ่ง  อ่านออกเสียงเหมื่อนปลาตัวนี้  ยังดีที่ท่านไม่บ้าจี้  ไม่งั้นเราคงได้ชื่อนายก ฯ ชื่อไพเราะว่า "จอมพลใบไม้"  จารึกไว้ในประวัติศาสตร์

                  เคยพูดไว้แล้วว่าธรรมเนียมการตั้งชื่อ     เราเอามาจากพิธี "นามกรณัม" ของพรามหม์   แต่ก็ไม่เอามาทั้งหมด  บางอย่างเราก็ไม่เอาตามเขา  เช่นคนอินเดียชอบตั้งชื่อเลียนแบบสิ่งที่เคารพสูงสุด  คือเอานามพระผู้เป็นเจ้ามาตั้งชื่อลูก  เช่น  ราม  กฤษณะ  ปารวดี 
นารายณ์  เป็นต้น     เขาถือว่าเวลาเวลาเรียกชื่อลูกจะได้รำลึกนึกถึงพระผู้เป็นเจ้า  ได้อยู่ใกล้พระผู้เป็นเจ้าตลอดเวลา   เขาไม่ยักคิดว่าเวลาโกรธลูกเผลอด่า "ไอ้หาราม"   หรือ 
"ไอ้กฤษณะฉิบหาย" ไม่กลัวพระผู้เป็นเจ้าแกกริ้วเอาหรือไง

                   ในแงนี้คนไทยไม่เอาอย่าง   เรามีธรรมเนียมว่าไม่ละเมิดเบื่องสูง   สิ่งเคารพสูงสุดเช่น  พระรัตนตรัย   สถาบันกษัตริย์   จะไม่นำเอามาตั้งชื่อลูกหลานเป็นอันขาด   พระนาม 
" สิทธัตถะ" ก็ดี  "โคตมะ" ก็ดี  หรือพระนามของราชวงศ์ชั้นสูงไม่นิยมนำมาตั้งชื่อ   ไม่ถึงกับมีกฏหมายห้ามแต่เป็นมารยาทอัดีงามไม่พึงละเมิด   นี่คือข้อแตกต่างระหว่างวัฒนธรรมไทยกับวัฒนธรรมแขกอย่างหนึ่ง

                   ในส่วนที่เหมือนกันก็มี  คือชื่อแขก (เข้าใจว่าไม่ทั้งหมด) มักจะมีชื่อบ้านเกิดหรือเมืองมาตุภูมินำหน้าชื่อจริง เช่น  วอลโปละ  ราหุล  คำแรกเป็นชื่อบ้านเกิด  คำหลังเป็นชื่อจริง
ธรรมเนียมแบบนี้มีประโยชน์แก่อนุชนผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ไม่น้อย  แม้จะมีคนชื่อราหุลตั้งสี่คน    ล้วนแต่เป็นคนเด่นดังในประวัติศาสตร์มีผลงานคนละหลายกุรุส  ไม่มีวันสับสนว่าใครเป็นใคร  ผลงานไหนเป็นของใครเป็นอันขาด   เพราะชื่อหน้าจะเป็นตัวบ่งชี้

                  ในบางจังหวัดของประเทศไทย   เช่นจังหวัดนครราชสีมารับเอาลัทธิธรรมเนียมอย่างนี้มาด้วย    ไม่ทราบว่ารับมาได้อย่างไร   ทำไม่จังหวัดอื่นจึงไม่มีก็ไม่รู้    ฝากนักวิชาการค้นคว้าด้วย   ชาวโคราชจะตั้งนามสกุลตามตำบลหรืออำเภอของตน  เช่น  นายลี เกิดอยู่อำเภอขุนทด นามสกุล"ดุนขุนทด"นางมา เกิดอำเภอกระโทก นามสกุล "ดีกระโทก"เป็นต้น
เห็นนามสกุลปั้บรู้ทันทีว่าเป็นชาวอำเภอไหน  หรือ บรรพบุรุษมาจากถิ่นไหน  มันดีในแง่การศึกษาประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ของคนแต่น่าเสียดายว่าคนรุ่นใหม่กำลังจะละทิ้งลัทธิธรรมเนียมอันดีงามนี้เสียเขาว่า มันเชยส์ ฟังไม่ไม่ไพเราะ  อายคนอื่นเขา  จึงพากันเปลี่ยนชื่อสกุลใหม่ให้
"หะรูหะรา" กว่าเดิม  อย่างเจ้าลี  ดุนขุนทด  เพื่อนผมก็เปลี่ยนซะโก้ว่า "สหชาติโกสีย์"เป็นต้น 
ต่อไปอีกร้อยสองร้อยปีลูกหลานเหลนโหลนของตระกูลนี้อยากจะสืบหา  "รูท" รากเง่าของตัวเองก็คงทำไม่ได้แล้ว  เพราะข้อมูลมันเปลี่ยนแปลง

                   ผมอยากยกตัวอย่่างสักเรื่องหนึ่ง  เชื่อว่าชาวพุทธที่สนใจศาสนาทุกคนคงเคยได้ยินชื่อ  พุทธโฆสาจารย์  ( อย่างน้อยก็ได้ยินเดี๋ยวนี้แหละ )  ท่านผู้นี้เป็นพระอรรถกถาจารย์ชื่อดังฝ่ายเถรวาท  หรือ  หินยาน ( คำนี้ก็เหมือนกัน  เดิมเขาเขียน หีนยาน  คนบ้าจี้ไปลดเสียงให้สั้นเสีย )  ท่านแต่งหนังสืออธิบายพระไตรปิฎกมากมายกว่าใคร  หนังสือของท่าน พระสงฆ์
ใช้เป็นหลักสูตรเรียนตั้งแต่ประโยคหนึ่งถึงประโยคเก้า  คนมีผลงานมหึมาถึงขนาดนี้  แต่ประวัติความเป็นมากลับไม่ชัดแจ้ง  ตำราส่วนมากกล่าวว่า   ท่านเป็นชาวอินเดียภาคเหนือ เกิดที่ตำบลพุทธคยา   สถานที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้  บวชแล้วเดินทางไปทำงานด้านการแต่งและแปลคัมภีร์ศาสนาที่ประเทศศรีลังกา

                   มีนักวิชาการหลายท่านตั้งข้อสังเกตว่า  ท่านพุทธโฆสาจารย์น่าจะมิใช่ชาวเหนือ  น่าจะเป็นชาวใต้มากกว่า  สงสัยแถว ๆ แค้วนอันธระ  ที่เขาตั้งข้อสังเกตอย่างนี้เพราะเวลาพระพุทธโฆสาจารย์พูดถึงภูมิภาคก็ดี   ความเป็นอยู่ของประชาชนก็ดี  ถ้าเป็นเรื่องทางภาคเหนือแล้วมักจะให้ข้อมูลผิดพลาด  แต่ถ้าเป็นเรื่องทางภาคใต้ท่านจะมีความรู้ดีเป็นพิเศษ  จึงไม่น่าจะเป็นไปได้ที่คนเราจะบรรยายเมืิองมาตุภูมิของตนผิด

                    เมื่อ  ค.ศ. ๑๙๕๒  มีนักธรณีวิทยาสองคนขุดค้นพบที่ตั้งของหมู่บ้านโบราณแห่งหนึ่ง   ที่แคว้นอันธระ  ภาคใต้ของอินเดีย  ชื่อของหมู่บ้านเป็นภาษาเตลคุ  ถอดเป็นภาษาบาลีว่า "โมรณุฑ" (แปลว่าไข่นกยูง)  การค้นพบหมู่บ้านโบราณแห่งนี้   สร้างความตื่นเต้นแก่นักวิชาการมาก  เพราะมัน  "ส่อง" ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพระอรรถกถาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ท่านนี้อย่างชัดเจนขึ้น

                   ท้ายหนังสือ วิสุทธิมรรค ท่านเขียนถึงตัวท่านเองเอาไว้  แต่ไม่มีใครแปลออก พอค้นพบหลักฐานข้างต้น  นักวิชาการต่างก็ถึง "บางอ้อ" ไปตาม ๆ กัน ท่านเขียนถึงตัวท่านดังนี้ครับ  ( ขออนุญาตยกบาลีหน่อย  )


                    พุทฺ ธ โฆ โส ติ      ครู หิ    ค หิ ต น า ม เ ธ ยฺ เยน          เถเรน

                    โ ม ร ณฺ ฑ เ ข ฏ ก วฺ ตฺ พฺ เพน      ก โ ต      วิสุ ทฺ ธิ ม คฺ โ ค 

แปลว่า  "วิสุทธิมรรค   แต่งโดยพระเถระที่ครูขนานนามให้ว่า พุทธโฆสะ  ผู้เคยอยู่ใน  
                
                 โมรัณฑ  เขฏกะ"

คำที่เขียนตัวเอนนี่แหละครับ    เป็นกุญแจไขถึงชาติภูมิ ของท่าน ซึ่งแต่ก่อนไมมีใครเคย
เฉลี่ยวใจ  โมรณฺฑ  แปลว่า "ไข่นกยูง" เขฏก  เป็นคำสันสกฤตแปลว่า "หมู่บ้าน" เพราะฉะนั้น
โมรณฺฑเขฏก  ก็หมายถึงหมู่บ้านโมรัณฑะ   ที่ขุดพบที่แคว้นอันธระ  นั่นแล


                     เข้าใจว่าสมัยนั้นใคร ๆ คงหมายถึงท่านผู้นี้ว่า  "โมรัณฑ  เขฏกะ  พุทธโฆสะ"  คำแรกบอกบ้านเกิด   คำหลังบอกชื่อจริง ตามธรรมเนียมตั้งชื่อของคนอินเดียสมัยนั้น

                     เพื่อน ๆ ที่ามีนามสกุลบอกถิ่นเกิด   ถ้าไม่อยากให้ลูกหลานลำบากในการค้นหา
" รูท " ในการข้างหน้า  ก็อย่าเปลี่ยนใหม่เลยครับ ถึงมันจะเชยส์บ้างก็ช่างเถิด !!!!!!!


                                                            _____________________________

                            

                                     
                    

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น