สนุกกันจริงวันลอยกระทง เดือนสิบสองน้ำมันนองเต็มตลิ่ง เราทั้งหลายชายหญิง สนุกกันจริงวันลอยกระทง ลอยกระทงลอยแล้ว ขอเชิญน้องแก้วมาร่วมรำวง รำวงวันลอยกระทง............!!!
สนุกกันไว้ก่อน บ้านเมืองจะมีเภทภัย ไฟจะไหม้บ้าน ไม่ต้องคิด สนุกกันลูกเดียว นิสัยชอบสนุกเป็นเอกลักษณ์ อันเด่นชัดของไทย ตายแล้วยังอดสนุกไม่ได้ ต้องมีปีพาทย์ ราดตะโพนประโคมมีรำหน้าศพ คนไทยหน้าตายิ้มแย้มอยู่ตลอดเวลา จนชาวยุโรปที่มาถึงเมืองไทยบ่อย ๆ พากันประหลาดใจ ว่าคนไทยช่างไม่เป็นทุกข์เป็นร้อนกันเลยไม่เหมือนบ้านเมืองเขา ล้วนเป็นคนยิ้มยาก เลยเรียกเมืองไทยว่า แลนด์ ออฟ สไมล์ นักแปลถอดออกเป็นคำไทยว่า สยามเมืองยิ้ม แม้บ้านเมืองจะเข้าที่คับขันก็ยังอดสนุกกันไม่ได้ ก็ครั้งแผ่นดินพระที่นั่งสุริยาอมรินทร์นั่นอย่งไร พม่ายกทัพมาประชิดกรุง ท่านก็โปรดให้อาสาหกเหล่ายกกองทัพเรือไปตีค่ายพม่าที่ท่าการ้อง พวกอาสาหกเหล่าก็ยกกองเรือออกไป เรือนำมีปี่พาทย์ราดตะโพนประโคมราวกับไปทอดกฐิน นายเริกหัวหน้าใหญ่ยืนถือดาบรำเฉิบ ๆ อยู่หัวเรือ พม่าก็เอาปืนส่องเอาตกน้ำจมหายไป พวกอาสาก็หันหัวเรือกลับกันหมดทุกลำ อย่านี้แหละจะไมเสียกรุงได้อย่างไร "ทั้ง ๆ ที่....กำแพงรอบขอบคูก็ดูลึก ไม่น่าศึกพม่าจะมาได้ ยังให้มันข้ามเข้าเอาเวียงชัย หรือที่ในธานีไม่มีชาย หรือธานินทร์สิ้นเกณฑ์จึงเกิดยุค ไพรีรุกรบได้ดังใจหมาย"" สุนทรภู่เมื่อไปเห็นเถ่าถ่านของกรุงศรีอยุธยาก็คร่ำครวญไว้ดังนี้
ที่จริงอารมณ์สนุกก็มีคุณอยู่เหมือนกัน เพราะช่วยกำจัดความเครียด ไม่ทำให้เป็นคนเจ้าโทสะ น่าเสียด่ายอยู่เหมือนกัน ที่สมัยเมืองไทยจะเป็นนิคส์ คนไทยชักจะสูญสิ้นอารมณ์สนุกกันเสียหมดแล้ว อะไรนิดอะไรหน่อยก็ชักหน้าแดงหน้าเขียวใส่กัน เอาเป็นเอาตายกันท่าเดียว
วันลอยกระทงจึงเป็นวันอนุรักษ์ความสนุก แม้การลอยกระทงเดี๋ยวนี้จะเพี้ยนจากเดิมไปมาก ถ้าจะไปถามพวกที่ไปลอยกระทงว่าลอยกันไปทำไม อาจจะได้รับคำตอบว่า จะไปรู้รึ เห็นเขาลอยก็ลอยมั่ง พวกที่อะไร ๆ ก็ประชาธิปไตยก็ว่า นี่แหละประชาธิปไตยละ ก็ว่ากันไปตามอัธยาศัย การทำตามเขาไปโดยไม่รู้สาเหตุนี้เขาเรียกว่าทำตามประเพณี ผิดถูกอย่างไรไม่ต้องคิด ได้ทำตามเขาเสียหน่อยก็สบายใจ
แต่ประเพณีทั้งหลายย่อมมีที่มา มีสาเหตุ ก็อย่างลอยกระทงนี้ก็มีต้นเหตุ นักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์ว่า ประเพณีลอยกระทงนี้เราได้จากพราหมณ์จากอินเดีย พวกพราหมณ์เขามีประเพณีลอยบาป สิ้นปีทีหนึ่งก็จัดการรวบรวมบาปที่ทำกันไว้ เอาไปลอยกันเสียทีหนึ่ง ทำราวกับว่าบาปเหมือน เสื้อผ้าเก่า ๆ ถอดทิ้งเสียได้ ผิดกฏแห่งกรรมโดยสิ้นเชิง ก็อย่างที่เรามคำเตือนใจว่า "ทำกรรมใดไว้เหมือนเงาตามตัว
แม้สร้างกุศลเหมือนกันแลนา" แปลว่าทำบาปแล้ว เอาไปโยนทิ้งน้ำเสียไม่ได้ มันติดกับตัวตลอดเวลา และเราต้องได้รับผลร้ายจากบาปที่ทำไว้อย่างแน่นอน คนแต่ก่อน
เชื่อถือคตินี้มาก ไม่ค่อยกล้าทำบาป พระพุทธองค์ก็ทรงตักเตือนไว้ว่า "สพฺพ ปาปสฺส
อกรณํ แปลว่า ความชั่วทั้งหลายอย่าได้กระทำเลย" และทรงแนะต่อไปว่า "กุสลสูสูปสมฺทา แปลว่า จงทำแต่ความดีทุก ๆ อย่างเถิด" และเพื่อให้ชีวิตมีความสุขสมบูรณ์ที่แท้ก็ควร "สจิตฺต ปริโยทปนํง แปลว่า ทำจิตใจให้ผ่องใส คือ อย่าให้มีกิเลสครอบงำ"
พระบรมพุทโธวาทสั้น ๆ สามประการนี้ประเสริฐนักหนา เสียดายจริง ๆ ที่คนสมัยนี้ไม่ค่อยได้ยึดถือเป็นหลักในการดำเนินชีวิต มันจึงได้เดือดร้อนกันทั่วไปหมด
ทีนี้ก็มีคำอธิบายสาเหตุงานลอยกระทงอีกอย่างหนึ่งว่า เป็นการเอาเครื่องสักการะใส่กระทงลอยไปบูชาพระบรมสารีริกธาตุอันบรรจุอยู่ในพระเจดีย์จุฬามณี
ในดาวดึงสถิภพและบูชารอยพระพุทธบาท ซึ่งประดิษฐานอยู่ที่หาดทรายฝั่งแม่น้ำนมทานที ที่สองแห่งนี้อยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ ถามผู้เฒ่าผู้แก่ท่านก็ชี้โบ้ชี้เบ้ไปตามเรื่อง ถามหนักเข้าก็โดนตวาด เป็นอันนึกว่ามีก็แล้วกัน จะมีอยู่ที่ไหนแน่ ไม่จำเป็นต้องรู้
ทีนี้ก็มีอธิบายอีกอย่างหนึ่ง พอฟังได้ มีเรื่องปรากฏอยู่ในตำหรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หรือตำนานนางนพมาศ นางนพมาศเป็นบุตรีพราหมณ์ปุโรหิตของสมเด็จพระร่วงเจ้า ก็เข้าแบบตำนานปรัมปรา ถามว่าพระร่วงไหนก็ไม่มีใครตอบได้
บอกแต่ว่าองค์ที่มีวาจาสิทธิ์ คือพูดอะไรเป็นนั่น ก็อย่างที่ท่านเสด็จประพาสทางเรือ
เสวยปลาจนเหลือแต่ก้าง แล้วก็ทรงโยนลงน้ำไป แล้วตรัสสั่งว่า เอ็งจงเป็นขึ้น
ปลานั้นก็กลับมีชีวิตขึ้น สืบพันธุ์มาจนทุกวันนี้ เขาเรียกว่าปลาพระร่วง เนื้อของมันใส
จนแลเห็นก้าง
ส่วนมูลเหตุที่มีการลอยกระทงคือว่า "ในเดือนสิบสองเป็นเวลาที่น้ำในแม่น้ำใสสะอาดและมากเต็มฝั่ง ทั้งเป็นเวลาสิ้นฤดูฝนในกลางเดือนนั้นพระจันทร์ก็มีแสงสว่างผ่องใสเป็นสมัยที่สมควรจะรื่นเริงในแม่น้ำเวลากลางคืน พระเจ้าแผ่นดินจึงได้เสด็จ
ประพาสตามลำน้ำพร้อมด้วยพระราชบริพารฝ่ายใน เป็นประเพณีมาแต่กรุงสุโขทัย"
เมื่อนางนพมาศได้เข้ารับราชการจึงได้คิดทำกระทงถวายพระเจ้าแผ่นดิน
เป็นรูปดอกบัวและรูปต่าง ๆ ให้ทรงลอยไปตามกระแสน้ำไหล....แปลว่านสงนพมาศเป็นผู้ริเริ่มการลอยกระทง ปัจจุบันนี้ในเทศกาลลอยกระทง จึงได้มีการประกวดนางนพมาศเพื่อเป็นที่ระลึกถึงผู้ที่เป็นต้นคิด
การลอยกระทงแต่ก่อนมีสองอย่าง คือกระทงหลวง เรียกอย่างเต็มยศว่าการ
ลอยพระประทีปลอยกระทง เป็นการที่ในหลวงโปรดให้จัด กับการลอยกระทง อันเป็นของประชาราช
นายมี ซึ่งเป็นศิทย์ของสุนทรภู่ ครั้นบวชอยู่วัดพระเชตุพนคงจะได้ชมการลอยกระทงหลวง จึงได้เขียนพรรณนาไว้ในนิราศเดือนว่า
"เดือนสิบสองล่องลอยกระทงหลวง ชนทั้งปวงลอยตามอร่ามแสง
ดอกไม้ไฟโชติช่วงเป็นดวงแดง ทั้งพลุแรงตึงตังดังสะท้าน
เสียงนกลินพราดพรวดกรวดไอ้ตื้อ เสียงหวอหวือเฮฮาอยู่น่าฉาน
ล้วนผู้คนล้นหลามตามสะพาน อลหม่านนาวาในสาคร...."
การลอยกระทงหลวงกระทงหลวงเลิกเสียในรัชการที่ ๕ คงยังทำกันอยู่แต่ กระทงราษฎร์จนทุกวันนี้ ก็ได้เป็นเรื่องสนุกกันประจำปี การลอยกระทงหลวงครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดมีครั้งเดียวในราชการที่ ๓ ยิ่งใหญ่มโหฬารจน ท่านเจ้าพระยาทิพากรวงษ์ (ขำ บุญนาค)
นักประวัติศาสตร์คนแรกของไทยได้บันทึกไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๗ รัชการที่ ๓ ได้โปรดเกล้าให้เจ้านายและข้าราชการผู้ใหญ่แต่งกระทงประกวดกัน ต่างก็ทำกันสุดฝีมือและกำลังทรัพย์ ต่อเป็นแพหยวกกว้างแปดศอกบ้าง เก้าศอกบ้าง กระทงสูงตลอดยอดสิบศอก
สิบเอ็ดศอก ทำเป็นเขาพระสุเมรุและทวีปทั้งสี่ กระทงต่าง ๆ มีกลไกล มีมโหรี ขับร้องอยู่ในกระทง ผู้คนมาชมกันเต็มแม่น้ำจนหลีกกันไม่ค่อยไหว ตื่นตาตื่นใจสนุกกันเต็มที่
แต่เจ้าของกระทงต่างทรัพย์ซีดไปตาม ๆ กัน ความทราบถึงสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ก็โปรดให้เลิก นี่ก็เป็นเรื่องหน้าใหญ่ใจโตของคนไทย เสียเท่าไหร่เสียไป จะให้น้อยหน้า
คนอื่นไม่ได้ ยังมีงานใหญ่ ๆ อีกงานหนึ่งต่อเนื่องกับงานลอยกระทง คืองานทอดผ้าป่า
นี่ก็สนุกกันมาก แต่ก็ปนการทำบุญ สมัยรัชการที่ ๓ ก็มีแต่งเรือเป็นเชิงประกวดกัน แล้ว
ก็มีเรื่องซึ่งเจ้าพระยาทิพากรวงษ์ได้บันทึกไว้เช่นกัน
คือในราชการที่ ๓ มีคนใหญ่คับบ้านคับเมือง มีนามว่า พระยามหาเทพ (ปาน) แค่ตำแหน่งก็น่ากลัวอยู่หรอก ท่านผู้นี้ดำรงตำแหน่งใหญ่ในกรมพระตำรวจ เทียบกับสมัยนี้ก็เท่ากับรัฐมนตรีว่าการมหาดไทย พ่อค้ว ขุนนาง เจ้าสัว ขุนพัฒน์และชาวแพกลัวจนตัวสั่นตัวลีบ ท่านเจ้าคุณก็ทำบุญทอดผ้าป่ากับเขาเหมือนกันแต่ผ้าป่าของท่านต้องใหญ่ให้สมกับตำแหน่งอัครฐานของท่าน เมื่อคนทั้งหลายรู้ว่าท่านจะทอดผ้าป่าก็มีคนมาขอรับฎีกาไปทำจนล้นเหลือ พวกเจ้าสัวใหญ่ ๆ ยอมลงทุนหลายชั่ง ขอให้เจ้าคุณ
ขอให้เจ้าคุณกรุณาอย่าข่มเหงอย่างเดียว
ส่วนตัวเจ้าคุณเองทำยศอย่างเหมือนในหลวง ให้ผูกแพใหญ่ขึ้นบนเรือที่ปากคลองหน้าบ้าน แล้วลงมานั่งชมเรือผ้าป่าในแพมีหม่อมพวกละครและมโหรีห่มสีทับทิมหมอบเฝ้าอยู่หน้าแพ อย่างนี้ขุนนางผู้ใหญ่ก็ไม่หาญทำ ห่มหรือสไบสีทับทิมนั้นเป็นสีของหลวง เป็นของต้องห้าม ใช้ได้แต่พระเจ้าแผ่นดินเท่านั้น คนอื่นใช้ไม่ได้ที่พระยามหาเทพทำขนาดนี้
ต้องนับว่ามีอำนาจเหลือหลาย คนกลัวเสียยิ่งกว่ากลัวเจ้าชีวิต ดูเหมือนพระยามหาเทพคนนี้เอง ที่สุนทรภู่เอาไปเขียนไว้ในกาพย์พระไชยสุริยาว่า "คดีที่มีคู่ คือไก่หมูเจ้าสุภา ใครเอาข้าวปลามา เจ้าสุภาก็ว่าดี ที่แพ้แก้ชนะ ไม่ถือพระประเวณี ขี้ฉ้อก็ได้ดี ไล่ด่าตีมีอาญา"
พูดตามภาษาสมัยนี้ว่า พระยามหาเทพเป็นตัวคอรัปชั่นอย่างยิ่ง พวกบริวารก็ได้อำนาจเจ้านายคอรัปชั่นตามไปด้วย
แต่ก็ไม่พ้นกฏแห่งกรรม พอตัวเองตายลง หมดอำนาจ คนที่เคยพึ่งใบบุญพากันเมินหน้าหมด คนไปช่วยทำบุญศพหรอมแหรม หีบใส่ศพก็ไม่มีใครคิดต่อให้ บุตรภรรยาก็เอาแต่วิวาทชิงสมบัติกัน มีรคนคนหนึ่ง ว่าชื่อ หลวงเสนาวานิส ไปอยู่ในเวลามหาเทพตาย
ต้องไปเรียกบ่าวไพร่ของตนมาช่วยหีบบรรจุศพ พระยาทิพากรวงษ์ บันทึกไว้ว่า...."อันนี้เป็นที่น่าสังเวชอันหนึ่ง เมื่อมีชีวิตอยู่ผู้คนบ่าวไพร่ทั้งชายหญิงมีอยู่ในบ้านกว่าพัน กล่าวไว้เพื่อจะให้ท่านทั้งหลายสืบไปภายหน้ารู้ไว้ การเบียดเบียนข่มเหงคนทั้งปวงให้ได้รับความเดือดร้อน
เมื่อตนยังเป็นปกติมีชีวิตอยู่พอสุขสบายไปได้ สิ้นชีวิตไปแล้ว ทรัพย์สินเงินทองเครื่องใช้บ่าวทาสก็แปรผันไปอย่างอื่น บุตรก็ไม่ได้สืบตระกูล บ้านเรือนโตใหญ่ก็เป็นป่าไปทั้งสิ้น"
ท่านเจ้าคุณคนนี้คงไม่นับถือพระพุทโธวาทที่ว่า "ความไม่เบ่งเป็นยอดแห่งความดี
(นิวาโต จ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมุมํ - มงคลสูตร) แต่การวางโต หรือการเบ่งนั้น นักจิตวิทยากล่าวว่าเป็นนิสัยสันดานของมนุษย์ เกิดมาเป็นคนแล้วต้องเบ่งกันทั้งนั้น แต่การเบ่งนั้นมีทั้งเบ่งดีและเบ่งร้าย พระยามหาเทพท่านเบ่งในทางร้าย พาเอาคนทั้งหลายเดือดร้อนไปตามกัน ส่วนคนเบ่งดีก็มีอยู่ เช่นชาวกรีกคนหนึ่ง ตายไปเกือบสามพันปีแล้ว แต่ชื่อยังอยู่ แกชื่อไดโอจินิส
นับถือกันว่าเป็นปรัชญาจารย์ อยู่ในกรุงเอเธนส์ แกตัดกิเลสเป็น สมุจเ้ฉทปหาน ไม่ไยดีในทรัพย์และอำนาจ อาศัยนอนในถัง มีกระป๋องใบเล็ก ๆ ใช้ตักน้ำกิน วันหนึ่งแกเห็นหมากินน้ำ
ใช้ลิ้นวักน้ำเข้าปาก แกเลยโยนกระป๋องทิ้งเมื่อหมากินน้ำได้ ไม่ต้องใช้ภาชนะอะไร แกก็ควร
กินน้ำได้โดยไม่ต้องใช้กระป๋อง ทีนี้ก็มียอดนักเบ่งของกรีก อีกคนหนึ่งคือ พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช เป็นบรมกษัตริย์ยิ่งใหญ่ ทรงปราบปราม บ้านเมืองใหญ่น้อยไว้ใต้พระราชอำนาจ ครั้นได้ยินกิตติศัพท์ของ ไดโอจินิส ก็ทรงเลื่อมใสเสด็จไปพบ ไดโอจินิส กำลังนอนผึ่งแดดอยู่ในถัง ก็ตรัสว่า "ท่านอาจารย์ จะปรารถนาสิ่งอันใดบ้าง บอกมาจะโปรดประทานให้" ไดโอจินิสตอบว่า "ขอประทานอย่างเดียวอย่าประทับยืนบังแสงแดดเท่านั้แหละ"อย่างนี้เบ่งเหมือนกันแต่เบ่งดี เบ่งอย่างนักปราชญ์
เมื่อใดเบ่งร้ายต่อร้ายมาเผชิญหน้ากันก็ต้องเจ็บกันไปข้าวหนึ่ง ท่านผู้ใดไม่อยากเจ็บตัว ก็พึงบริกรรม พระคาถา....นิวาโต จ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ เอาไว้เป็นนิตย์เถิด
__________________________________
Chanpa
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น