เรื่องทุกเรื่องเป็นอดีตไปหมดแล้ว เกิดจากความจำ เกิดจากอารมณ์ขำ อ่านแล้วไม่เครียด อ่านแล้วขำลึก ๆ นึกขึ้นมาที่ไรก็เบิกบานทุกครั้ง
วันพุธที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2555
ตารอดปอดแฉ่ง ( 1 )
เป็นเรื่องสั้นสุดหรรษาชื่อเรื่องว่า... ตารอดปอดแฉ่ง ฟังดูพิลึกอยู่ สงสัยว่า
จะเป็นคำร้องเล่น ๆ ประเภทกลอนพาไปแต่ท่านเจ้าคุณ (พระยาโกมารกุลมนตรี) เห็นว่าหน้า
จะมีเบื่องหลังเบื่องหน้าในคำร้องนี้จึงได้นำมาผูกเป็นเรื่องราวอ่านสนุกสนานครื้นเครงยิ่งนัก
อ่านได้...เรยยย์
ตารอดปอดแฉ่ง
" ตารอดปอดแฉ่ง ผัวนางแมงดา
หกล้มหกลุก ผัวนางตุ๊กกะตา "
แม้...ด้วยบทประพันธ์สั้น ๆ ประกอบด้วยถ้อยคำเพียงสิบห้าสิบหกคำเท่านั้น ท่านจินตกวี
ก็เล่าเรื่องราวประวัติของนายรอดให้เราทราบได้ท่านไม่ต้องใช้ศัพท์สูง ๆ ท่านใช้แต่คำไทยล้วน ๆ บทประพันธ์ของท่านก็น่าฟัง
ตารอดปอดแฉ่ง
นายรอดซึ่งท่านจินตกวี (พระยาโกมารกุลมนตรี) กล่าวถึงนี้ มารดา ( นามไม่ปรากฏ )
ชะรอยจะเป็นคนขี้โรค เจ็บกระเสาะกระแสะมาแต่ตั้งครรภ์จนเวลาคลอด อันเป็นเหตุให้
ทารกที่กำเนิดมาเป็นทารกขี้โรคไปด้วย เมื่อคลอดออกมาก็ไม่ร้องเหมือนทารก ทั้งหลาย
หมอตำแยต้องตบก้น ต้องใช้วิธีต่าง ๆ อยูเป็นนานจึงร้องออกมาได้ ดังจมูกเป็นรอยเขียว
แสดงให้เห็นว่าโรคลมเป็นเจ้าเรือน แม้เมื่อสายสะดือหลุดแล้วก็ไม่ก็ไม่ไคร่จะได้ถูกอาบน้ำ
เหมือนเด็กอื่น จึงเป็นเด็กที่มีร่างกายผอมเกร่ง น่าสงสารยิ่งนัก เมื่อตอนฟันจะขึ้นก็เจ็บหนัก
ท้องเดินวันละหลายสิบครั้ง ผอมและเห็นซี่โครงจนที่ก้นนั้นแทบจะไม่มีเนื้อเลย แต่วาสนาจะ
ให้มีอายุอยู่ต่อมา เผอิญถูกยากลางบ้านขนานหนึ่งซึ่งเข้าครั่งเกาะไม้ จันทร์แดง จันทร์ขาว
กะทือ กะชาย พอฟันซีกแรกทะลุเหงือกขึ้มาแล้ว ทารกนั้นก็โตวันโตคืน เพราะเหตุที่นึกว่า
ลูกของตนจะตายแต่ไม่ตายนี้ บิดามารดาจึงขนานนามว่ารอด หมายความว่ารอดจากความตาย
ในขณะที่ท่านจินตกวีประพันธ์ประวัติของนายรอดนี้ นายรอดมีอายุประมาณสี่สิบเศษแล้ว
ท่านจินตกวีจึงใช้คำนำหน้านามว่าตา เพื่อแสดงให้เห็นว่า นายรอดมีอายุในเวลานั้น พอที่
จะเป็นตาคนได้แล้ว ถ้าท่านไม่ใช้คำตานำนาม เราอาจหลงว่าท่านเล่าประวัติของคนหนุ่ม ๆ
นี่ต้องนับว่าเป็นความรอบคอบอันหนึ่งของท่านจินตกวีของไทย
อีกประการหนึ่ง คำว่าตาที่ใช้นำหน้านามยังแสดงอาชีพนายรอดด้วย เรารู้ได้อย่างแน่นอนว่านายรอดไม่ได้เป็นนักการเมือง เพราะเราไม่เรียกนักการเมืองว่าตา ท่านจะเป็นรัฐมนตรีหรือผู้แทนราษฎรประเภทใดก็ตาม เราคงไม่กล้าเรียกท่านว่าตา (เว้นแต่ท่านผู้นั้นจะเผอิญเป็นบิดาของมารดาเราเอง) นายรอดไม่ได้เป็นพ่อค้าเพราะพ่อค้าเราก็ไม่ใช้ตาเป็นคำนำหน้า
นาม พ่อค้าไทยที่ชื่อรอดก็เคยมมีมาแล้ว แต่ก็ไม่ปรากฏว่าใครเคยเรียกว่า ตารอด
คำว่า ตา ที่เราใช้นำหน้านามใคร นอกจากตาบังเกิดเกล้าของเราเองแล้วย่อมแสดงว่าผู้นั้นเป็นคนสูงอายุ และผู้นั้นเป็นคนชั้นกรรมกร คนสำคัญในประวัติศาสตร์ที่เรียกกันว่า ตา ก็ดู
เหมือนจะมีน้อยคน ที่นึกได้เวลานี้ก็คือ ตาม่องลาย ๑ ตาปะขาว ๑ ที่เรียกดังนี้ คงจะเรียกโดยให้เกียรติพิเศษเฉพาะบุคคลคือยกย่องว่าท่านทั้งสองที่ กล่าวนามมานั้น มีเกียรติเสมอ
ตาบังเกิดเกล้าของผู้เรียก คนสำคัญ ๆ ขนาดเดียวกับม่องล่าย เช่นนายบุญนักล่าสัตว์ เรา
ก็เรียกแกว่าพรานบุญไม่มีใครยอมเรียกแก่ว่าตาบุญ เมื่อได้พิเคราะห์ถ้อยคำในบทประพันธ์
โดยรอบคอบดังนี้แล้ว เป็นอันชี้ขาดได้ว่านายรอด ซึ่งท่านจินตกวีเรียกว่าตารอดนั้น มีอาชีพ
ในทางสับปะเหร่อ รับจ้างเขาเผาผีและฝังผี และเป็นสับปะเหร่อธรรมดา ๆ ไม่ใช่ชั้นสนม
ถ้าเป็นชั้นสนมคงจะมียศบรรดาศักดิ์ท่านจินตกวีคงไม่กล้าเรียก ตารอด นี่เพราะเป็นเพียง
นายรอดสับปะเหร่อ ท่านจึงเรียกว่าตารอด
ตารอดสับปะเหร่อผู้นี้ชอบรสอาหารแปลก ๆ คือชอบรับประทานอวัยวะภายในของซากศพ
บรรดาศพที่ใครฝากหรือฝังในป่าช้าที่ตารอดครอบครองนั้น ไม่มีอวัยวะภายในเหลือสักศพเดียว แม้กระทั่งศพที่เขาจ้างตารอดให้เผาสด ๆ ถ้าเจ้าภาพของศพไม่ระวังให้ดี ตารอดก็
ลอบผ่าศพล้วงอวัยวะภายในออกมาต้มกับตะไคร้ใบมะกรูด จิ้มน้ำส้มอย่างต้มเครื่องในโค
หรือสุกร บางทีก็ย่างจิ้มน้ำปลาระยองหรือน้ำปลาแต้อิ้ว และอวัยวะที่ตารอดชอบมากที่สุด
นั้นคือปอด ถ้าแกผ่าศพใดออกเห็นปอดน่ารับประทานแล้ว ตารอดเป็นยิ้มแย้มแจ่มใสหน้าชื่น
ตาบาน ด้วยเหตุนี้พวกเพื่อนสับปะเหร่อด้วยกันจึงตั้ง สมญาแกว่า "ตารอดปอดแฉ่งหมายความว่า พอเห็นปอดดี ๆ เข้าแล้วตารอดเป็นยิ้มแฉ่ง" อาจมีผู้ส่งสัยว่าคำว่าปอดแฉ่งเป็นนามสกุลของตารอด ข้อนี้ ข้าพเจ้ายืนยันได้ว่าไม่ใช่นามสกุลเพราะจินตกวีนิพนธ์บทนี้
มีมาก่อน รัชการที ๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และคนไทยเพิ่งจะมีนามสกุลกันขึ้นในรัชการที่ ๖
นี่เอง และตั้งแต่การจดทะเบียนนามสกุลของคนไทยจนมาบัดนี้ ข้าพเจ้ากล้าพะนันว่า ไม่เคย
มีใครจดทะเบียนนามสกุลว่าปอดแฉ่ง การที่ไม่มีชื่อ ปอดแฉ่ง ในทะเบียนนามสกุลเป็นที่ส่อให้เห็นได้ชัดว่าปอดแฉ่ง เป็นเพียงสมญาของตารอด ประการ ๑ วงศ์วานว่านเครือของ
ตารอดหมดสาบศูนย์ไปเสียก่อนรัชการที่ ๖ ประการ ๑ ถ้ามีหลานเหลนลื้ออยู่มาจนราชการที่ ๖ เขาคงจะใช้นามสกุลของเขาว่า ปอดแฉ่ง เพื่อแสดงให้ปรากฏว่าเขาเป็นเชื้อแถวของตารอดปอดแฉ่งผู้มีชื่อเสียงมาแล้วในกรุงสยาม......
นี่ก็เป็นที่มาของท่อนแรกที่ว่า "ตารอดปอดแฉ่ง" ส่วนท่อนที่สองคือ "ผัวนางแมงดา" นั้น ท่านก็ได้ขยายความเป็นมาไว้อย่างละเอียดว่าทำอย่างไรตารอดจึงเอานาง
แมงดาสาวใหญ่มาเป็นเมียได้ หากแต่ขอไว้ต่อคราวหน้านะครับ เรื่องของตารอดปอดแฉ่งยังไม่จบครับ
__________________________________
Chanpa
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น