วันอังคารที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2556

เรื่องของ รองเท้า





                                                เรื่อง ของรองเท้า


                                             

 เท้าเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของร่างมนุษย์  ผู้ที่ไม่มีเท้าก็อาจจะได้ชื่อว่า เป็นผู้พิการขาดสิทธิทางกายภาพไป บางทีพวกเราก็เรียกว่า "ร่างกายไม่ครบสามสิบสอง" ถ้าถามว่าผู้ที่่พิการสามารถอยู่ในสังคมได้ไหม คำตอบง่าย ๆ ก็คือสามารถอยู่ได้ ถ้าเขาอยากจะอยู่  แต่ผู้พิการส่วนใหญ่มักจะคิดว่าถูกทอดทิ้งทางสังคมหรือเป็นภาระต่อสังคม ความจริงแล้วสังคมส่วนใหญ่ไม่ได้ทอดทิ้งท่าน

  เท้าของคนเราเป็นอวัยวะที่มี่ตำแหน่งที่อยู่ต่ำที่สุดของร่างกาย ถ้าท่านไม่อยู่ในสภาพที่กำลังนอนราบไปกับพื้นโลก  ปกติแล้วเท้าได้รับมอบหมายให้ทำหน้าทีหลายอย่าง ที่สำคัญที่สุดก็คือรับน้ำหนัก และใช้เป็นตัวขับเคลื่อนนำพาร่างกายไปในที่ ๆ อยากจะไป 

  เมื่อเท้ามีหน้าที่ขับเคลื่อน มนุษย์จึงจำเป็นต้องหาอุปกรณ์มาช่วยแบ่งเบาภาระของเท้าก็คือ "รองเท้า Shoes " สมัยก่อนพวกเราเรียกว่า "เกีอก Footwear"  และรองเท้าที่ผมมีความสนิทสนมมากที่่สุดคือยี่ห้อบาจา BATA  จริง ๆ แล้วบางท่านอาจจะนึกว่าเป็นยี่ห้อรองเท้าของคนไทย ผมไปอ่านเจอในหนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ์ (ฉบับวันที่ ๒๒ ต.ค.) คุณกิเลน ประลองเชิง ตำนานบาจา คุณกิเลน บอกว่า เจ้าของรองเท้า บาจา ชื่อ นายโธมัส บาจา บริษัทบาจา เริ่มก่อตั้งมาตั้งแต่ปี ๒๔๓๗ ร้อยกว่าปีที่แล้ว ปี ๒๔๔๐ ประการหลักการลูกค้าเป็นนายของเรา ผลิตรองเท้าผ้าใบขาย และในปี ๒๔๖๐ สามารถทำยอดขายได้
๒ ล้านคู่ต่อปี

                                                        


  ในปี ๒๔๗๕ นายโทมาส บาจา แกก็จากโลกใบนี้ไปไม่มีวันกลับ แต่ถ้าสมมุติว่าแกกลับมาคงจะดีใจแน่นอนว่ารองเท้ายี่ห้อ BATA ของแกเจริญรุ่งเรือง ผมพูดเองนะครับ สาเหตุการจากไปของอีตาโธมัส บาจา ก็คือเครื่องบินทีแกโดยสารไป มันตกครับ แต่บริษัทรองเท้าของแกกลับยิ่งเจริญรุ่งเรือง และในปี  ๒๔๘๒ ได้มีการขยายเครือข่ายออกไปถึง ๖๓ แห่ง ใน ๖๐ ประเทศ ยอดขายปีละ ๖๐ ล้านคู่

  ในปี ๒๔๘๒ บาจาต้องสะดุด  เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์เข้ามายึดครองบริษัท ผมลืมบอกไปว่า รองเท้า บาจามีต้นกำเนิด ที่กรุงปราก ประเทศเช็ก  (ชื่อเดิม เช็กโกสโลวาเกีย ) พูดมาถึงตอนนี้ให้นึกถึง รองเท้า ยี่ห้อหนึ่ง ซึ่งวัยรุ่นสมัยผมอยากสวมใส่มากคือยี่ห้อ เช็กโก วัยรุ่นสมัยนั้นเรียกติดปากว่า รองเท้าเช็กโก  ป็นรองเท้าหนังกลับหุ้มข้อ ใครได้ใส่ บอกได้คำเดียวว่า เท่ห์ระเบิด เดียวนี้ใครใส่รองเท้าหนังกลับไม่ว่ายี่ห้อใด เราก็เหมาเข่งเลยว่า รองเท้าเช็กโก

                                             




  สุดท้ายบริษัท บาจาไม่ยอมแพ้ ได้ย้ายไปเปิดสำนักงานใหม่ที่ประเทศ แคนาดา  และในปี ๒๔๙๓ (หลังผมเกิด ๑ ปี) บาจาได้เข้ามาตั้งบริษัทในไทย  ในปี ๒๕๑๙ ได้เข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ต่อมาในปี ๒๕๓๗ ตั้งเป็นบริษัทมหาชน จนถึงปี ๒๕๕๓ บาจาได้บริการลูกค้าวันละ ๑ ล้านคน มีพนักงาน  ๔ หมื่นคน มีร้านค้าปลีก ๔,๖๐๐ แห่ง ใน ๕๐ ประเทศทั่วโลก


  ในประเทศไทย  มีโรงงานตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง  ผลิตได้ ๘ แสนคู่ แบ่งเป็น (รองเท้านักเรียน ๔๕๐,๐๐๐ คู่ ) มีร้านค้าปลีก ๕๗ แห่ง  เอเย่นต์ค้าส่ง ๓๔๖ แห่ง

ประวัติ!!!!..... บาจายาววนานกว่า ๑๐๐ ปี ยืนยันบริหารจัดการ  ยิ่งกว่ามืออาชีพ พูดง่าย ๆ ว่าเหนือกว่า
มืออาชีพ ธุระกิจสืบทอดมาจนถึง โทมัส เจ บาจา  ทายาทรุ่นที ๑๐  แบบนี้ไม่ใช่เรื่องดวงดีแล้ว หรือโชคช่วย แต่เป็นการแสดงถึงความสามารถเหนือมืออาชีพชนิดที่ทิ้งกันแบบไม่เห็นฝุ่น

" การที่ผมเป็นลูกคนเดียวของพ่อ  ผู้เป็นตำนานบาจา เป็นเหมือนดาบสองคม  ในแง่ลบทุกคนตั้งความหวังจากผม  ผมก็ต้องการเรียกร้องความเป็นตัวของตัวเอง  อยากหลีกหนีให้ไกลจากเงาของพ่อและแม่ เมื่อใดที่ผมประสบกับความสำเร็จ  ผมก็จะกลายเป็นลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น   แต่เมื่อใดถ้าหากผมเกิดพลาดพลั้ง ขึ้นมาไม่ประสบผลสำเร็จ  ผมก็จะถูกตำหนิว่าผมทำธุระกิจของครอบครัวล้มเหลว  แต่ผมโชคดี ข้อเปรียบเทียบเหล่านี้ถูกลบไปจนหมดสิ้น"

  สันติ  วิลาสศักดานนท์  เขียนไว้ในคำนำ ว่า

"การฟันฝ่าอุปสรรคมาได้กระทั้งยามสงคราม  กลยุทธ์การเอาตัวรอด  กลยุทธ์การตลาดในการขยายธุรกิจ  การมองตลาด  หาโอกาสทำธุรกิจได้ตลอดเวลา  เป็นการแสดงถึงภาวะผู้นำ และวิสัยทัศน์  จนสามารถนำองค์กรอยู่ยืนยงมาได้"

  ในหมู่พ่อค้าคนจีน  มีคำกล่าวว่า ธุรกิจครอบครัวมักรุ่งเรืองอยู่ได้ ๓ ชั่วอายุคน  รุ่งเรืองรุ่นพ่อ  รุ่นลูกประคองไว้ได้  และมักมาเจ๊งที่รุ่นหลาน....!!!!

แต่บาจา ได้พิสูจน์แล้วว่า....ไม่ไช่

ข้อมูลบางส่วน ได้นำมาจาก  บทความไทยรัฐ ของ คุณกิเลน ประลองเชิง
                                                 
                                                   

                                                        ______________________

                                                                 สัมพันธ์ จันทร์ผา






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น