วันอังคารที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2556

สตอกโฮล์ม ซินโดรม + นครนายก ซินโดรม


             


                   สตอกโฮล์ม  ซินโดรม + นครนายก ซินโดรม

                                      

   หลังเกิดเหตุการณ์จับตัวประกันชาวสวีเดนเมื่อ 40 ปีก่อน ที่ทำให้ผู้คนทั่วโลกรู้จักคำศัพท์ว่า “สตอกโฮล์ม  ซินโดรม” ซึ่งเป็นการอธิบายถึงปฏิกิริยาของเหยื่อที่ถูกลักพาตัว แต่ชายคนหนึ่งรู้ซึ้งถึงคำว่า “สตอกโฮล์ม ซินโดรม” เป็นอย่างดี แจน-เอริค โอลส์สัน อดีตนักโทษวัย 72 ปี ยังจดจำได้เป็นอย่างดีต่อความแปลกที่เกิดขึ้น หลังจากที่เขาเดินเข้าไปในธนาคารแห่งหนึ่งในกรุงสตอกโฮล์ม เมืองหลวงสวีเดน เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ปี 2516 จากนั้นได้ชักปืนกึ่งอัตโนมัติออกมา พร้อมจับพนักงาน 4 คนของธนาคารเป็นตัวประกัน


  แต่ที่น่าแปลกก็คือ แทนที่ตัวประกันจะเอาชีวิตรอด พวกเขากลับอยู่เคียงข้างโอลส์สัน คอยปกป้องเขาในบางสถานการณ์ ทำให้ตำรวจไม่กล้ายิง โดย 5 วันของวิกฤติตัวประกันนั้น มีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ออกอากาศไปทั่วสวีเดนเป็นครั้งแรก และได้กลายเป็นเรื่องที่น่าติดตามของประชาชน หลังจากตำรวจยอมทำตามความต้องการของโอลส์สันที่ให้นำตัวคลาร์ก โอลออฟส์สัน โจรปล้นธนาคารชื่อกระฉ่อนมาจากเรือนจำ
โอลส์สันบอกว่า 
 

         เขามองเห็นความกลัวในสายตาของตัวประกัน และเขาต้องการให้ตัวประกันหวาดกลัวเท่านั้น ไม่ได้คิดที่จะใช้ความรุนแรง แต่แล้วความกลัวได้แปรเปลี่ยนไปสู่ความรู้สึกที่สับสน และสร้างความตกตะลึงพรึงเพริดให้แก่ชาวสวีเดนทั้งประเทศ เมื่อได้รู้จากปากของตัวประกันรายหนึ่งคือคริสติน เอ็นมาร์ก ที่ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์เป็นครั้งแรก


         เอ็นมาร์กกล่าวว่า เธอไม่กลัวทั้งโอลส์สันและโอลออฟส์สัน แต่เธอกลัวตำรวจ และไว้วางใจคนทั้งสอง เชื่อหรือไม่ว่า เรามีช่วงเวลาที่ดีมากด้วยกัน ในที่สุด โอลส์สันกับโอลออฟส์สัน ได้ยอมมอบตัวกับตำรวจ ส่วนตัวประกันทั้งหมดปลอดภัย แต่เรื่องราวไม่ได้จบเพียงแค่นี้ นับจากนั้นมา บทบาทของผู้จับและผู้ถูกจับเป็นตัวประกันได้ปรากฏไปทั่วโลก และ “สตอกโฮล์ม ซินโดรม” ยังคงถูกนำไปถ่ายทอดโดยผู้เชี่ยวชาญอย่างแฟรงค์ ออชเบิร์ก 

                                                   
    

      จิตแพทย์ชาวอเมริกัน ออชเบิร์ก ซึ่งเคยขึ้นให้การในคดีของ แอเรียล คาสโตร ชาวเมืองคลีฟแลนด์ในสหรัฐวัย 53 ปีที่ก่อเหตุลักพาตัวและทรมานหญิง 3 คนมาเป็นเวลา 10 ปี กล่าวว่า “สตอกโฮล์ม ซินโดรม” มีองค์ประกอบ 3 ประการคือ 1. เกิดความผูกพันและความรักระหว่างตัวประกันกับคนร้าย 2. ผู้จับตัวประกันเริ่มเอาใจใส่ดูแลเหยื่อ ซึ่งนั่นคือเหตุผลที่บางครั้งเราต้องการให้เกิด “สตอกโฮล์ม ซินโดรม” หากเราสามารถทำได้ ในการจัดการกับสถานการณ์ตัวประกัน 3. ทั้งตัวประกันและคนร้ายต่างไม่สนใจโลกภายนอก

                                   


      ตัวอย่างเช่น นาตาชา คัมพุช วัยรุ่นสาวชาวออสเตรีย ปรากฏตัวออกมาเมื่อปี 2549 หลังเธอถูกจับไปขังไว้ในบังเกอร์ใต้ดินเป็นเวลาถึง 8 ปี ซึ่งในนั้นเธอถูกคนที่จับตัวมากระทำย่ำยีสารพัดทั้งทำร้าย ปล่อยให้อดอาหารและข่มขืน แต่คัมพุชยอมรับว่า เธอร้องไห้ เมื่อทราบข่าวการเสียชีวิตของผู้ที่ทรมานเธอ ว่ากันว่า  
คัมพุชเติบโตเป็นสาวโดยไม่ได้รับการเลี้ยงดูจากผู้ปกครอง ทำให้มีการคาดเดากันว่า เธออาจได้รับผลกระทบจาก “สตอกโฮล์ม ซินโดรม”


     ออชเบิร์กบอกว่า เมื่อผู้คนจะได้รับอิสรภาพ พวกเขาอาจรู้สึกถึงความใกล้ชิดกับคนร้ายมากกว่าเพื่อนและครอบครัว แต่สำหรับโอลส์สัน อดีตโจรปล้นธนาคาร ได้กลับเนื้อกลับตัวประพฤติตนเป็นคนดี นับตั้งแต่ได้รับการปล่อยตัวออกจากคุกเมื่อปี 2523 เขาทำงานเป็นพนักงานขายรถในสวีเดน ก่อนเข้ามาอยู่ในเมืองไทยโดยยึดอาชีพเกษตรกร และใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับหญิงไทย ที่แต่งงานกันเมื่อ 24 ปีก่อน.
        
                                        


    ในเมืองไทยบ้านเราเหตุการณ์ ทำนองนี้ก็เคยมีเหมือนกัน  ในราวปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ซึ้งในตอนนั้นผมเป็นนักเรียนฝึกสอน (เดี๋ยวนี้เรียก นักศึกษาฝึกสอน) ผมได้ไปทำการฝึกสอนที่ โรงเรียน "ตำหนักเพนียด"  พระนครศรีอยุธยา โรงเรียน เป็นตำหนักเก่า  วังเวงน่ากลัวมาก แต่นั่นไม่ใช่เรื่องที่ ผมจะเล่า ครูพี่เลี้ยงของผมเป็นสุภาพสตรีสาวใหญ่ไม่มีครอบครัว ท่านใจดีมาก ท่านเล่าว่าตอนท่านเป็นสาว ๆ ท่านเคยมีคู่รักแต่ไม่ได้แต่งงานกัน ผมก็ไม่ทราบเหตุผลเพราะท่านไม่ยอมเล่าต่อ ท่านยังบอกเป็นนัย ๆ ว่าท่านเป็นคนค่อนข้างหน้าตาดี อันนี้ผมเชื่อท่าน เพราะถึงท่านจะมีอายุ ท่านก็มีใบหน้าผิวพรรณดี ท่านบอกว่าตอนเป็นสาว ๆ ทางกลุ่มโรงเรียนได้จัดนำเที่ยว

  สมัยนั้นยังไม่ค่อยรู้จักกับคำว่า "ทัศนศึกษา" ทางกลุ่มโรงเรียนพานำเที่ยว น้ำตกสาริกา น้ำตกนางรอง วังตะไคร้ สมัยนั้นใคร ๆ ก็อยากไปกันทั้งนั้น ท่านหยุดเล่านิดนึง แล้วมองหน้าผม ผมก็เลยถามท่านว่า น้ำตกสวยไหมครับ  ท่านบอกว่าสวยมาก ๆ สวยแบบชาตินี้ถึงตายแล้วเกิดก็จะไม่มีวันลืม ผมเห็นคุณครูพี่เลี้ยงของผมกลืนน้ำลายลงคอ ท่านเล่าต่อว่า "สัมพันธ์"ท่านเอ่ยชื่อผม รถพี่ทั้งคันถูกจี้ สมัยใหม่ฝรั่งเรียกว่า [hijacked]   โดยกลุ่มวัยรุ่นมีประมาณ สิบกว่าคน พวกเขาทำการปลดทรัพย์ แต่ที่แปลกคือกลุ่มโจรวัยรุ่นพวกนี้ พูดจาเรียบร้อย มีแต่โชเฟอร์ [Chauffeur] กับเด็กรถเท่านั้นที่เขานำไปไว้อีกแห่งหนึ่งข้างทาง แล้วพวกเขาก็พาพวกเราทั้งหมดทั้งครูผู้ชายและครูผู้หญิงทั้งหมด เดินลัดเลาะเข้าป่าลงเขา พูดง่าย ๆว่าจับไปเป็นตัวประกัน จนถึงน้ำตกสาริกา พี่จำได้ว่า ตอนนั้นเป็นเวลาประมาณบ่ายโมงกว่า พวกเขาบอกกับพวกตัวประกันทั้งหมดให้หยุด แจกน้ำดืม และที่พี่นึกไม่ถึงคือมีการแจกข้าวห่อมีการถ่ายรูปกับตัวประกัน มีการบอกว่าใครอยากเล่นน้ำตกก็ตามสบายนะครับ มีอยู่คนหนึ่งมองมาทีนิ้วมือของพี่  พี่สวมแหวนนามสกุลทำด้วยทองคำแกะสลักเขาขอดู พี่ก็บอกไปว่าแหวนวงนี้อย่าเอาไปเลยน่ะ มันเป็นแหวนนามสกุลและที่สำคัญคุณแม่กับคุณพ่อทำให้ เขาบอกว่า คุณครูครับผมขอดูเท่านั้นเองครับ แล้วก็จริงอย่างที่เขาพูดเขาไม่ได้เอาไป

                                    


   ประมาณ สองชั่วโมงกว่า ๆ ที่พวกเราอยู่ในป่าริมน้ำตก พวกเขาก็บอกกับครูผู้ชายว่าพวกเขาจะไปแล้ว คงจะเดินกลับไปที่รถกันถูก พวกเขาก็นำผลไม้กับน้ำดืมมากองไว้ให้ พวกเขาก็แยกย้ายจากไป ทรัพย์สินที่พวกเขานำเอาไปก็ไม่มากมายเท่าไหร่ พวกเราไม่มีใครเป็นอะไรก็โชคดีแล้ว

  ผมนั่งฟังคุณครูพี่เลี้ยงเล่าด้วยความรู้สึกที่ขัดแย้งในตัวเองว่า มีอย่างนี้ด้วยหรือนี่ ผมถามคุณครูพี่เลี้ยงว่า แล้วหลังจากนั้นเกิดอะไรขึ้นอีกครับ คุณครูพี่เลี้ยงเล่าให้ฟังว่า เมื่อกลับมาถึงรถเห็น
โชเฟอร์กับเด็กรถ ถูกมัดติดกับต้นไม้ไม่ไกลจากรถเท่าใดนัก 

 สรุปเป็นอันว่าพวกเรากลับมาครบและปลอดภัยกันทุกคน มีแต่พนักงานขับรถ เท่านั้นหลังจากกลับมาแล้ว พี่แกได้ไปแจ้งความกลับสถานีโรงพักตำรวจ  ว่ารถถูกกลุ่มโจรวัยรุ่นปล้นรถโดยสารและจับผู้โดยสารไปเป็นตัวประกัน

  หลังจากนั้นไม่กี่เดือนต่อมาหนังสือพิมพ์ลงข่าวว่าจับกลุ่มโจรวัยรุ่นพวกนั้นได้ขอเชิญเจ้าทุกข์ที่ถูกปลดทรัพย์และถูกจับตัวไปเป็นตัวประกัน ให้มาชี้ตัว แต่ สัมพันธ์ เธอจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ตามใจเธอนะคณะครูของเราไม่มีใครไปเป็นพยานเลยสักคนเดียว  ก็คงจะมีแต่เจ้าของรถเท่านั้นที่ไป
พี่เองก็ไม่เข้าใจตัวพี่เองเหมือนกันว่าเป็นเพราะอะไร

 ถ้าท่านผู้ใดมาอ่านเจอบทความนี้กรุณาช่วยหาคำตอบให้ด้วยนะครับจะขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงครับ

                                       

                                                    _____________________

 Sampan Chanpa




















ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น